Tips & Tricks

11 วิธีชาร์จแบตเตอรี่อย่างไร ให้ปลอดภัย ไม่โดนไฟดูด

ชาร์จแบตเตอรี่ ไม่ช็อตไม่ดูด

เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุไฟช็อตจากการชาร์จแบต เราจึงขอเสนอ 11 วิธีชาร์จแบตเตอรี่อย่างไร ไม่ให้โดนไฟดูด ส่วนจะมีขั้นตอนแบบไหนบ้างนั้น ไปชมพร้อมๆ กันเลยครับ

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี คือ อุบัติเหตุไฟช็อตจากการชาร์จแบตเตอรี่ บางเหตุการณ์โชคดีก็แค่บาดเจ็บรางกายมีรอยไหม้ แต่ถ้าโชคร้ายก็ถึงตายได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏรรมเหล่านี้อีก ทาง Whatphone จึงขอเสนอ 11 วิธีชาร์จแบตเตอรี่อย่างไร ให้ปลอดภัย ไม่โดนไฟดูด ส่วนจะมีขั้นตอนแบบไหนบ้างนั้น ไปชมพร้อมๆ กันเลยครับ

11 วิธีชาร์จแบตเตอรี่อย่างไร ให้ปลอดภัย ไม่โดนไฟดูด

 

1. ใช้อแดปเตอร์หรือสายชาร์จของแท้จากผู้ผลิต

การใช้อแดปเตอร์หรือสายชาร์จของแท้จากผู้ผลิต เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะผู้ผลิตการันตีว่าอุปกรณ์ทุกอย่างที่ผลิตออกมาใหม่นั้นได้มาตรฐานตามที่บริษัทกำหนดอย่างแน่นอน ยกเว้นว่าจะแจ๊คพอทเจอชิ้นที่หลุด QC ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายตามกฏหมายจากผู้ผลิตได้เลย (แต่ถ้าเทียบค่าเสียหายกับชีวิต แน่นอนว่ามันไม่คุ้ม)

 

2. ระมัดระวังอย่าให้อแดปเตอร์หรือสายชาร์จเปียกน้ำ

บางครั้งคนเราก็อาจจะเผลอทำน้ำหกกันได้บ้างเป็นเรื่องปกติ แต่คงไม่ใช่เรื่องปกติแน่ถ้าทำน้ำหกใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ต้องพึ่งไฟบ้านอย่างอแดปเตอร์หรือสายชาร์จ หากเปียกน้ำเฉพาะส่วนที่เป็นฉนวนก็ยังใช้ต่อได้ แต่ถ้าส่วนที่เป็นโลหะนั้นเปียกไปด้วย หรือเปียกในซอกหลืบที่ยากจะเช็ดออก ทิ้งเถอะครับเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

3. ไม่ควรแกะหรือซ่อมอแดปเตอร์ชาร์จด้วยตัวเอง หากไม่มีความรู้ด้านไฟฟ้า

สำหรับข้อนี้ หากใครที่เป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ชำนาญการอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นมือใหม่หัดซ่อมหรือไม่มีความรู้พอก็อย่าไปดันทุรังซ่อมมันเลย ส่งให้ช่างซ่อมหรือซื้อใหม่ไปเลยจะดีกว่า ยิ่งถ้าซ่อมแล้วไฟบ้าน 220V รั่วเข้ามาในสายชาร์จได้เมื่อไหร่ ก็เตรียมตัวเตรียมใจกลับบ้านเก่ากันได้เลย

 

4. ใช้กระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมในการชาร์จ ไม่ควรใช้กระแสมากกว่าปกติ (ยกเว้น Tablet และสมาร์ทโฟนที่มีระบบชาร์จไวโดยเฉพาะ)

ปัจจุบันอแดปเตอร์ชาร์จที่ขายในท้องตลาด มีหลายรุ่นที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้หลายแบบ (มีช่อง USB หลายช่อง) เช่น 1A, 1.5A, 2A, 2.4A และอื่นๆ อีกมากมายเนื่องจากแต่ละยี่ห้อก็มีมาตรฐานในการชาร์จแตกต่างกันออกไป ยิ่งเป็นรุ่นที่รองรับระบบชาร์จไวก็จะมีมาตรฐานเฉพาะยี่ห้อไปอีก ซึ่งตามหลักการของไฟฟ้าแล้ว หากกระแสเยอะ เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าสู่ร่างกายก็จะเป็นอันตรายมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้าสูงๆ จะทำให้เครื่องร้อนและลดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่อีกด้วย

5. ไม่ควรใช้งานในขณะที่ชาร์จ

จากเหตุการณ์ที่ชาร์จแบตแล้วไฟรั่วจนมีผู้เสียชีวิต หากสังเกตตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่า เกือบ 100% เสียชีวิตจากการใช้สมาร์ทโฟนในขณะชาร์จแบตนั่นเอง หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สมาร์ทโฟนทันทีทันใด ควรถอดสายชาร์จออกก่อนเป็นอันดับแรก แล้วก็ใช้งานตามปกติ แค่นี้ก็ปลอดภัยแล้ว (แต่ถ้ามีหลายๆ เครื่องชาร์จเครื่องนี้ไปก่อนแล้วไปใช้เครื่องอื่นจะดีกว่า)

 

6. ในขณะชาร์จ เก็บสมาร์ทโฟนให้ห่างจากมือเด็ก

สำหรับแม่ลูกอ่อนที่เลี้ยงลูกจนเหนื่อยแล้วเผลอหลับไป แล้วปล่อยให้ลูกน้อยเอื้อมมาจับมือถือที่ชาร์จอยู่ หากไฟรั่วขึ้นมาก็คงจะเป็นโศกนาฏกรรมพร้อมๆ กับพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งอย่างแน่นอน วิธีที่ดีที่สุดคือเก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่ว่าจะชาร์จอยู่หรือไม่ก็ตาม เพราะโดยปกติแล้ว สมาร์ทโฟนไม่ใช่ของเล่นสำหรับเด็กเล็กเลยแม้แต่น้อย

 

7. หากตัวเปียก ไม่ควรจับสมาร์ทโฟนที่กำลังชาร์จอยู่

ต่อจากข้อ 5 การใช้งานในขณะที่ชาร์จแบตเป็นครั้งคราวไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าตัวเปียกแล้วไปจับ ชีวิตก็เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายนั่นเอง โอกาสที่ไฟจะรั่วก็มีสูงขึ้นเพราะน้ำกับไฟฟ้านั้นไม่ถูกกันอยู่แล้ว ซึ่งเราๆ ท่านๆ ที่เคยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (หรือฟิสิกส์) ก็คงจะรู้ข้อนี้กันดี

8. ควรหลีกเลี่ยงสายชาร์จที่หุ้มด้วยโครงโลหะ

บางคนเลือกซื้อสายชาร์จตามลวดลายที่ชอบ หรือเลือกจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน หนึ่งในนั้นคือสายชาร์จที่ถักสายหุ้มด้วยโครงโลหะ ข้อดีของสายชาร์จแบบนี้คือแข็งแรงทนทานรับแรงดึงได้ดีกว่าสายยางหรือพลาสติก (แต่ถ้ากระชากแรงๆ ก็ขาดได้เหมือนกันนะเออ) แต่ข้อเสียหลักคือสายแบบนี้ไฟจะรั่วง่ายกว่าปกติ ยิ่งถ้าตัวเปียกๆ แล้วมาจับสายก็มีสะดุ้งแน่ๆ หากซื้อมาแล้วก็มีวิธีแก้ไขแบบง่ายๆ นั่นก็คือ ขณะใช้ก็อย่าเหยียบพื้น แค่นี้ก็ปลอดภัยแล้ว

 

9. เลือกซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นที่บอดี้ไม่เป็นโครงโลหะ (หรือใส่เคสที่เป็นฉนวน)

สืบเนื่องจากเหตุผลในข้อ 8 สำหรับใครที่กำลังใช้สมาร์ทโฟนบอดี้โครงโลหะอยู่ ก็คงจะเคยโดนไฟรั่วกันบ้าง ยิ่งถ้าชาร์จด้วยกระแสสูงๆ ไฟจะรั่วง่ายกว่าปกติ (แต่ถ้ารั่วบ่อยๆ ตัวเครื่องน่าจะมีปัญหาแล้วล่ะ) ใครยังไม่ได้ซื้อเครื่องแบบนี้ก็แล้วไป แต่ถ้าซื้อเครื่องมาแล้วก็มีวิธีแก้ไขง่ายๆ นั่นคือ ใส่เคสที่เป็นฉนวนห่อหุ้มโครงโลหะให้หมด แล้วปัญหาไฟรั่วจากบอดีก็จะมลายหายไปเอง

 

10. หากอแดปเตอร์หรือสายชาร์จชำรุดโดยอยู่ในเงื่อนไขของประกัน ควรนำไปเคลมเพื่อรับอุปกรณ์ใหม่ทันที

หากเราใช้อแดปเตอร์หรือสายชาร์จตามปกติ แล้วต่อมาอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ทำงาน ทั้งๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขและประกันยังไม่หมด เราสามารถขอเคลมชิ้นใหม่ได้ที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน ทั้งนี้ เราต้องดูเงื่อนไขการรับประกันให้ละเอียดถี่ถ้วนในคู่มือหรือเอกสารปฏิเสธความรับผิดชอบ (Disclamer) เพราะบางยี่ห้อระบุเงื่อนไขว่า “ไม่รับประกันอุปกรณ์เสริมไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น” 

วิธีชาร์จแบตเตอร์รี่

11. ใช้แบตสำรองในการชาร์จแบต

วิธีนี้ผู้เขียนขอยืนยัน นั่งยัน นอนยันเลยว่าไฟฟ้าไม่มีทางรั่วแน่นอน 100% เพราะเพาเวอร์แบงค์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อใช้ไฟกระแสตรง (DC) ขนาด 5V จึงมั่นใจได้ว่า ไม่มีทางที่ไฟบ้านเล็ดลอดออกมากจากเพาเวอร์แบงค์แม้แต่นิดเดียว แต่เพาเวอร์แบงค์ต้องไม่เสียบไฟบ้านอยู่ในขณะนั้น มิฉะนั้นก็มีสิทธิ์รั่วอยู่ดีนะจ๊ะ

ก็จบกันไปแล้วสำหรับ 11 วิธีชาร์จแบตเตอรี่อย่างไร ให้ปลอดภัย ไม่โดนไฟดูด เพราะการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ นั้นย่อมง่ายกว่าการแก้ไขอยู่แล้ว ก็หวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเข้าใจและนำไปปรับใช้เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและคนในครอบครัว หาก Whatphone มีเคล็ดลับหรือวิธีป้องภัยแบบนี้อีก เราก็ไม่พลาดที่จะนำมาเสนอกันอย่างแน่นอนครับ

 

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save