Article

คุยสบายๆ สไตล์ปีเตอร์กวง : มาดูกันว่า Smartwatch และ Wearable Devices อนาคตจะรุ่งหรือจะร่วง ตลาดจะโตขึ้นหรือหดตัวลง และทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป | ปีเตอร์กวง

การใช้งาน Smartwatch นั้นถือผมถือเป็นการ “เติมเต็ม” และ “เชื่อมต่อ” เทคโนโลยีและชีวิตประจำวัน โดยที่เราทำได้โดยที่ไม่ต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยๆ

สวัสดีครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกกับความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนแนล) รับชมได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสดเวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม…

สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้มาพูดกันเรื่องของตลาด Smartwatch และ Wearable Devices กันว่าอนาคตจะรุ่งหรือจะร่วง ตลาดจะโตขึ้นหรือหดตัวลง และทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทำไมคนเราถึงยังต้องการ Smartwatch ขณะที่หลายๆคนทำไมเลิกใส่กันแล้ว

ตั้งแต่ Smartwatch ที่ทาง Samsung เปิดตัว นั่นคือ Samsung Galaxy Gear ในปลายปี 2013 ทำให้กระแสของการพัฒนาสินค้าแบบ Wearable Device (อุปกรณ์ที่สวมใส่และพกพาไปกับร่างกาย) ได้เปิดฉากขึ้นในวงการสื่อสารโทรคมนาคมและวงการโทรศัพท์มือถือ โดยเชื่อว่า Smartwatch จะเป็นอุปกรณ์ที่จะได้รับความนิยมอย่างมากในอนาคต ซึ่งมีผู้คนมากมายตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงต้องการ Smartwatch”

การคิดค้น Smartwatch นั้นถือผมถือว่าเป็นการ “เติมเต็ม” และ “เชื่อมต่อ” โดยการที่เรามีนาฬิกาอัจฉริยะ หรือ Smartwatch นั้นได้ทำให้การทำงานหลายๆ อย่างทำได้โดยที่เราไม่ต้องยกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเราขึ้นมาดูในทุกครั้ง (บางครั้งมือของเราอาจจะไม่ว่างอยู่ก็เป็นได้ในบางสถานการณ์) เช่นเมื่อมีสายโทรเข้า เราก็จะทราบได้ทันที โดยโอกาสในการที่จะพลาดสายสำคัญนั้นจะน้อยลง เพราะมันจะสั่นและเตือนที่นาฬิกาบนข้อมือเราได้ทันที และยังพูดคุยสนทนาได้ในทันทีด้วย (ยกเว้นอยากพูดคุยเป็นการส่วนตัวก็หันไปหยิบสมาร์ทโฟนมาคุยต่อ หรือใช้หูฟัง Bluetooth ก็ได้)

หรือแม้แต่ในการใช้งาน Social media อย่าง Line, Facebook ก็มีการเตือนเข้ามาผ่านทาง Smartwatch ซึ่งง่ายต่อการรับรู้ ในบางรุ่นยังสามารถยกขึ้นมาถ่ายภาพได้เลยเพราะมีกล้องติดมาด้วยนั่นเอง (แต่หลังๆ ก็เอาออกกันไปหมดแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการนำไปใช้ผิดวิธี) และหลายๆ รุ่นในวันนี้ก็มีฟังก์ชั่นในการช่วยมอนิเตอร์ อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate monitor : HRM) ทำให้เราสามารถรู้ถึงสถานะของหัวใจของเราได้ในทันที ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับคนในยุคนี้ ยุคที่สุขภาพของเราสำคัญที่สุด

ขณะที่ฟังก์ชั่นอื่นๆ สามารถทำงานได้ตามความสามารถของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราติดตั้งไว้ในสมาร์ทโฟน ทำให้เราได้ประโยชน์อีกมากในการใช้ Smartwatch ทำให้โดยส่วนตัวของผมชอบใส่ Smartwatch ควบคู่กับการใช้ Smartphone เพราะมันช่วยจัดการชีวิตที่ยุ่งยากให้ง่ายขึ้นครับ แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่วันนี้เริ่มที่จะ “เลิกใช้” Smartwatch ซึ่งเท่าที่ถามดู ก็ได้คำตอบที่หลากหลาย บางคนก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ชอบเปลี่ยนนาฬิกาตามการแต่งตัว ถ้าแบบนี้บอกได้เลยว่า Smartwatch ไม่ตอบโจทย์ เพราะบุคคลนั้นอาจจะมีนาฬิกาแพงๆ นาฬิกาแฟชั่นอยู่เพียบ เพราะฉะนั้นก็คงอาจจะไม่อยากใส่ Smartwatch เรือนเดียวตลอดเวลา

หรือบางครั้งอาจจะไม่ถนัดที่จะใส่ๆ ถอดๆ หรือบางคนก็ไม่เรียนรู้ที่จะใช้มันเอาเสียเลย อาจจะหยิบออกมาเฉพาะเวลาออกไปออกกำลังกาย ไปเดิน ไปวิ่ง เพียงเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดอาการ “ติด” กับ Smartwatch สักเท่าไร ทำให้บางคนอาจจะซื้อมาครั้งแรก พอเล่นไปสักพักหนึ่งก็หมดอาการ “เห่อของใหม่” ไปแล้ว และสุดท้ายก็ไม่หวนกลับไปจับอีกเลย

ขณะที่บางคนอาจจะรู้ซึ้งถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีเป็นอย่างดี และรู้สึกอยากใช้ Smartwatch อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังแต่เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะไม่มีแอพฯ ให้เล่นหลากหลายพอ หรือขณะที่ลักษณะการใช้ก็อาจมีข้อจำกัดเช่น Smartwatch แทบทุกรุ่นใส่ว่ายน้ำไม่ได้ ก็อาจทำให้ไม่ตอบโจทย์การใช้งานในรอบด้าน บางรุ่นอาจใส่ซิมได้ ทำให้สามารถใส่ Smartwatch ออกไปโดยไม่ต้องใช้ร่วมกับ Smartphone ในขณะที่อีกหลายรุ่นส่วนใหญ่ใส่ซิมไม่ได้ (ไม่รองรับการทำงานผ่านระบบโทรศัพท์ 4G, 3G) ทำให้เวลาใช้งานต้องมี Smartphone ต่อเชื่อมอยู่ตลอด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลในการใช้งานหรือการออกกำลังกายได้ (ยังดีมีบางรุ่นมี GPS ในตัวทำให้สามารถเก็บข้อมูลการวิ่งหรือปั่นจักรยานแล้วเอามาซิงค์กับสมาร์ทโฟนได้ในภายหลังเพื่อการวิเคราะห์และเก็บข้อมูล) ทำให้หลายๆ คนก็ถึงขนาดเลิกใช้ไปเลยก็มีเยอะอยู่ หรือบางทีก็แค่ใส่เป็นนาฬิกาบอกเวลา (ที่ต้องชาร์จแบตอยู่เรื่อยๆ) พอวันหนึ่งเสียขึ้นมาก็อาจจะเลิกใช้ Smartwatch ไปเลย และไม่หวนกลับไปซื้อเรือนใหม่อีก

Smartwatch ตลาดเริ่มไม่โต ผู้ผลิตเริ่มหายไป OS มีหลายมาตรฐาน

ปัจจุบันตลาด Smartwatch เริ่มหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผู้เล่นน้อยรายลงไปเนื่องด้วยการที่ระบบปฏิบัติการสำหรับ Smartwatch อาจทำงานยังไม่ดีพอ ยกตัวอย่าง Android Wear ที่ทาง Google นั้นพัฒนา Android Wear version 2.0 ล่าช้าไปกว่าครึ่งปี ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ที่เคยเป็นพันธมิตรอย่าง LG, Motorola, Huawei, ZTE และอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผลิต Smartphone รายใหญ่ ได้ลังเลที่จะทำ Smartwatch ออกมาเนื่องจาก OS เวอร์ชั่นใหม่ยังไม่พร้อมนั่นเอง ทำให้ยอดขาย Smartwatch จากฝั่ง Android Wear หายเงียบไปกว่า 8 เดือนในปีก่อน

ขณะที่ผู้เล่นหลักอย่าง Apple, Samsung นั้นต่างมี Smartwatch OS เป็นของตัวเอง (Apple มี Watch OS, Samsung มี Tizen OS) ทำให้ทั้งสองรายใหญ่ยังเหลืออยู่เป็นผู้เล่นหลักในการขับเคี่ยวต่อสู้ในเรื่องยอดขาย ซึ่ง Apple เป็นฝ่ายชนะไปตามคาด แต่ยอดขายในปี 2016 ที่ 21.1 ล้านเครื่องเทียบกับ 20.8 ล้านเครื่องปี 2015 มีการเติบโตเพียง 3 แสนเครื่องเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ โดยที่ยอดขายในปี 2016 Apple กินแชร์ไปกว่า 63% และ Samsung ได้ไป 16% ขณะที่ Brand อื่นๆ รวมกันเพียง 21% เท่านั้น ขณะที่รายบุกเบิกในอดีตอย่าง Pebble Watch ก็พ่ายแพ้ในสงครามนี้ จากการเป็นบริษัท Start Up ดาวรุ่ง (Kick Starter) แต่ด้วยสายป่านทางการเงินไม่อาจสู้บริษัทยักษ์ใหญ่ได้ ทำให้ต้องขายกิจการไปให้กับ Fitbit ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าซื้อไปแล้วจะรุ่งไหม (Fitbit เป็นบริษัทที่มียอดขายพวกอุปกรณ์ Wearable devices จำพวก Wristband รายใหญ่ที่สุดของโลก)

ส่วนรายใหม่กำลังมาแรงอย่าง Garmin ก็พัฒนา Smartwatch สายวิ่งออกกำลังกายเป็นหลัก โดยในราคารุ่นท็อปที่แพงกว่า Apple Watch ร่วมเท่าตัวก็ไม่ได้สร้างยอดขายได้มากเท่าไร งานนี้ต้องมาลุ้นกันต่อไปครับว่า Smartwatch จะเติบโตขึ้นบ้างไหมในปี 2017 ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็คงจะไม่ค่อยได้เห็นพัฒนาการคง Smartwatch ในปีต่อๆ ไป และทางเลือกก็อาจจะน้อยลงไปอีก ไม่ต่างอะไรกับตลาด Tablet ที่วันนี้หดตัวไปมากๆ ทำให้เหลือผู้เล่นน้อยหลายและสิ้นมนต์ขลังไปแล้วก็มีแต่ประคองตลาดกันไป

ข้อมูลจาก :  Strategy Analytics

Wearable Devices เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้เล่นเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ใช้ก็เติบโตเช่นกัน

ในขณะที่ตลาดอุปกรณ์สวมใส่ร่างกายอย่าง Wearable Devices (จริงๆ แล้วจะว่าไป Smartwatch ก็นับว่าเป็น Wearable Devices ได้เหมือนกัน) ก็เริ่มเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อย่าง Fitness Tracker ที่มีหน้าตาแบบกำลังคล้ายๆ กำไรหรือสาย Wristband ซึ่งมีราคาถูกกว่า Smartwatch อยู่หลายเท่า โดยอาจจะมีหน้าจอเล็กๆ หรือไม่มีหน้าจอก็ได้ ซึ่งเน้นการทำงานในการออกกำลังกาย หรือวัดความเคลื่อนไหวของร่างกายว่าเดินไปกี่ก้าวแล้วในแต่ละวัน หรือวิ่งไปกี่กิโลแล้วในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง รวมถึงการวัดอัตราการเต้นของหัวใจของเราอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นช่วงๆ

นอกจากนั้นยังรองรับการออกกำลังในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน การไต่เขา การว่ายน้ำ และอื่นๆ แล้วแปลออกมาเป็นข้อมูลในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย รูปแบบของอุปกรณ์ประเภทนี้มีจุดดีอยู่อย่างหนึ่งคือว่าเราสามารถใส่แทนนาฬิกาได้เลย หรือบางคนก็ใส่นาฬิกาข้างหนึ่งแล้วใส่อุปกรณ์ประเภทนี้ในอีกข้อมือหนึ่งก็ทำได้ ทำให้ Wearable Devices ไม่ถูกละเลยหลังจากซื้อมา ขณะที่ Smartwatch นั้นในหลายๆ โอกาสก็ไม่อาจทดแทนนาฬิกาเรือนโปรดของคุณได้ ทำให้หลายคนถึงขนาดเลิกใส่ Smartwatch ไปเลยก็เยอะ

ปัจจุบัน Fitbit ถือว่าเป็นเจ้าตลาดด้านนี้ด้วยยอดขายอันดับ 1 กว่า 22% ของตลาด ตามด้วย Xiaomi Band ที่ส่วนใหญ่มียอดขายมาจากตลาดในประเทศจีน ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งอื่นๆหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ใช้นิยมที่จะซื้อมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดย Xiaomi มีมาร์เก็ตแชร์ 15.4% ตามมาด้วย Apple ที่ล้วนแล้วแต่เป็นยอดขายที่เกิดจาก Smartwatch ทั้งนั้น (Apple Watch) ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 10.5% รองลงไปคือ Garmin (ที่มาแรงด้วย Vivo Series ไม่ว่าจะเป็น VivoFit, VivoSmart, VivoMove, VivoActive รวมถึง Smartwatch Fenix Series) และ Samsung ตามลำดับ

ขณะที่ยอดขายโดยรวมถึงทั้งปีนั้นจากปี 2015 มาเป็นปี 2016 นั้นถือว่าโตกว่า 25% เลยทีเดียว โดยจำนวนเติบโตกว่า 20.5 ล้านชิ้น แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์จำพวก Wearable Devices ยังมีตลาดที่สดใสมากกว่าการพัฒนาสินค้าที่เป็น Smartwatch อย่างเดียว (Smartwatch ขายได้ปีละ 20 กว่าล้านชิ้นเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลทางด้านราคา เพราะราคาต่อหน่วยไม่แพง สามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า รวมถึงรูปแบบสินค้าที่มีความหลากหลายกว่า ใช้ได้ในทุกโอกาส หรืออาจเลือกใช้ในบางโอกาสก็ได้ไม่ต้องกังวลเพราะซื้อมาไม่แพง และยังสามารถซื้อเป็นของขวัญให้คนอื่นๆ ได้อีกด้วย

ในตอนนี้ผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้นมากรายโดยสามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ทำให้ผู้ผลิตมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการพัฒนาสินค้าเพื่อออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลายในรอบปี โดยเฉพาะตลาดทุกวันนี้ผู้บริโภคหันมาเอาใจใส่ในด้านสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง ตลาดกลุ่มนี้จึงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป และยังไม่เห็นจุดที่อิ่มตัวในอนาคตอันใกล้ๆ

อนาคตของ Wearable Devices และ IoT ที่กำลังเข้ามาบรรจบกัน

ปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่อุปกรณ์ Wearable Devices ส่วนใหญ่นั้นยังทำไม่ได้คือ การทำงานกับระบบเครือข่ายไร้สายหรือเครือข่าย 4G, 3G (ปัจจุบันทำงานผ่าน WiFi และ GPS เท่านั้น) ขณะที่มาตรฐาน IoT (Internet of Things) นั้นกำลังพัฒนาถึงจุดที่อุปกรณ์ไร้สายเหล่านี้จะสามารถทำงานภายใต้เครือข่ายแบบ NB-IoT (Narrow band IoT) ซึ่งมาตรฐานของ Narrow band network นั้นกำหนดให้ทำงานภายใต้เครือข่าย 4G, 3G นั่นแปลว่าอุปกรณ์ Wearable Devices จะสามารถใส่ SIM Card จากผู้ให้บริการในบ้านเราเพื่อทำงานผ่านเครือข่ายมือถือและทำงานได้อิสระโดยไม่ต้องมี Smartphone ทำงานร่วม ทำให้อุปกรณ์ Wearable เหล่านี้จะทำงานได้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างดีกว่าในแบบเดิม

ยกตัวอย่างอุปกรณ์จำพวก Kids Watch หรือจะเป็นนาฬิกา Smartwatch ที่จะทำงานร่วมกับระบบ Smart Home ของบ้านเราได้ สามารถสั่งการได้จาก Smartwatch ของเราได้โดยตรง หรือแม้แต่ติดต่อกับ Smart Car ของเราเพื่อสามารถใช้ในการติดตาม หรือตามหาตำแหน่งที่อยู่ได้ หรือแม้แต่สถิติการตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจของเรา ก็สามารถถูกส่งต่อไปยังแฟ้มข้อมูลส่วนตัวของเรากับโรงพยาบาลประจำตัวที่เราทำการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจก็ทำให้ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ต่อการรักษา

หรือเราสามารถใช้ Smartwatch ในการมอนิเตอร์ผู้สูงอายุถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้ใส่ เช่น การล้มลงของผู้ป่วย อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ Smartwatch เรือนนั้นก็สามารถติดต่อไปยังเบอร์ฉุกเฉินของคนในครอบครัว หรือโรงพยาบาลได้อย่างทันทีโดยไม่ต้องรีรอ ทำให้ Wearable Devices จะไม่ใช่เพียงแค่การมอนิเตอร์การออกกำลังกายของเรา หรือใส่เท่ห์เพียงเท่านั้น สิ่งนี้กำลังจะทำให้ตลาด Wearable Devices ที่จะผนวกกับโมเดลของ IoT นั้น จะมีตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นต่อยุคการสื่อสารที่กำลังจะก้าวสู่ยุค 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ให้จับตาดูให้ดีนะครับ และที่สำคัญเปิดใจต่อเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ Techoffside ถ้าจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save