Article

รวม 7 ตัวอย่างการนำไปใช้ และความแตกต่างในการใช้ VR / AR

2 สื่อประเภทใหม่อย่าง VR และ AR นั้นจะมาเปลี่ยนวิธีที่เราเสพสื่อและรับข้อมูลรอบตัวไปมากมาย  แต่หลายๆ คนก็ยังสับสนว่ามันคืออะไร ? หรืองงๆ ว่ามันต่างกันอย่างไร ? และจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้ยังไง มาดูกันเลยจ้า

ข้อแตกต่างระหว่าง AR และ VR

อธิบายง่ายๆ VR คือการใส่แว่นที่เป็น 2 จอเล็กๆครอบตาซ้ายขวา จากนั้นก็เห็นแต่ภาพจากจอ ไม่เห็นภายนอก จากนั้นเมื่อเงยหน้าก็จะเห็นภาพที่ฉายในมุมมองที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นเกมตะลุยถ้ำ เมื่อใส่แว่น VR แล้วเงยหน้าก็จะเห็นเพดานถ้ำ ก้มหน้าจะเห็นพื้นถ้ำ หันข้างก็เห็นผนังถ้ำนั่นเอง

VR Virtual Reality

ส่วน AR คือการมองโลกจริงภายนอกผ่านจอมือถือธรรมดา หรืออาจจะผ่านแว่น AR ก็ได้  แล้วจะเห็น “ภาพซ้อน” เป็นกราฟฟิกข้อมูล การ์ตูน หรืออนิเมชั่นโผล่ขึ้นมาทับอย่างแนบเนียนกับโลกจริงตรงหน้า ตัวอย่างจริงๆ ที่หลายคนลองเล่นแล้วก็คือเกม Pokemon Go ที่เห็นสัตว์ประหลาดต่างๆ โผล่มาบนโลกจริงผ่านจอมือถือตอนที่เราจะโยนบอลจับ เป็นต้น

และเพื่อให้เห็นภาพว่า 2 สื่อใหม่นี้จะมาเปลี่ยนชีวิตเราในอนาคตได้อย่างไรบ้าง  ลองมาดูหลายๆ ตัวอย่างต่อไปนี้

VR (Virtual Reality)

หนังแนวใหม่ หันเก็บรายละเอียดได้ทุกมุมมอง

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสั้นอนิเมชั่นเรื่อง “Pearl” ใน YouTube ซึ่งเมื่อเราใส่แว่น VR ดูโดยไม่หันหน้า ก็จะเหมือนได้นั่งข้างคนขับ ถ้ามองไปข้างหน้าก็เห็นถนนทั่วอเมริกาเพราะตัวเอกเป็นคู่พ่อลูกนักดนตรีเปิดหมวกที่เดินทางไปทั่ว

แต่ถ้าเราหันหน้าไปดูเบาะหลัง ก็จะได้พบกับสารพัดผู้คนที่ขอติดรถขึ้นมาด้วย และถ้าเงยหน้าก็จะเห็นท้องฟ้าผ่านช่องซันรูปบนหลังคารถ ซึ่งหนังเรื่องนี้ที่สร้างโดย Google และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา “American Short Film”

ทั้งหมดนี้ทำให้เรา “อิน” เหมือนได้ร่วมคันรถกับพ่อลูกคู่นี้จริงๆ …ลองดูกันได้ที่ youtube.com/watch?v=WqCH4DNQBUA

เกมที่สมจริงขึ้น และควบคุมได้มากขึ้น

สำหรับการนั่งเล่นเกมที่บ้านทั่วๆ ไป VR ช่วยขยายมุมมองเพื่อความสมจริงได้ เช่นเกมขับรถแข่ง ที่สามารถหันมองกระจกข้าง  หรือรถอีกคันที่กำลังเบียดมา และสามารถเงยเล็กน้อยดูกระจกมองหลังได้ หรือเกมแนวสยองขวัญ ก็ทำให้หลุดเข้าไปในบรรยากาศได้สมจริงกว่าเดิม และภูติผีปิศาจอาจโผล่มาด้านข้างหรือย่องๆ มาข้างหลังก็เป็นได้ !

นอกจากนั้นก็ช่วยให้ควบคุมได้มากกว่าเดิม เช่นเกมขับเครื่องบิน ที่สามารถเงยหน้าปรับแผงควบคุมต่างๆ ได้คล้ายการขับเครื่องบินจริง

ทั้งหมดที่บอกไปนี้ สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสอดเข้าไปในแว่น VR อย่างที่เล่นกันทั่วๆ ไปได้  แต่ยังมี VR อีกแบบที่ภาพคมชัดขึ้น ระบบเสียงและอื่นๆ อลังการกว่า

ตัวอย่างเช่นในร้านแนว VR Cafe ต่างๆ ซึ่งมีที่นั่งติดกลไกราคาแพง โยกได้ เขย่าได้ ถ้าเล่นขับเครื่องบินก็เอียงได้ราวกับเครื่องฝึกนักบิน ถ้าเล่นเกมรถไฟเหาะก็เอียงเขย่าสร้างความหวาดเสียวได้ไม่แพ้ของจริง ซึ่งก็เริ่มมี VR Cafe ที่ติดตั้งที่นั่งพิเศษแบบนี้ไว้หลายแห่งแล้ว

ฝึกพนักงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ละเอียดกว่า

VR ยังสามารถใช้ฝึกอบรมพนักงาน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ได้ละเอียดชัดเจนกว่าการอ่านเอกสารคู่มือ เช่นห้าง Walmart ในอเมริกาที่ใช้ VR มาฉายเหตุการณ์สมมติ ให้พนักงานตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ก่อนจะดูเฉลยว่าที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

สถานการณ์ที่ฉายในแว่น VR นั้นก็เช่นขั้นตอนการบริการลูกค้า การรับมือกับช่วงเวลาลูกค้าแน่น ฯลฯ  เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่รุ่นพี่ๆ เจอมาแล้วให้กับพนักงานใหม่ๆ ในทุกหนแห่งเข้าใจตรงกัน

อีกบริษัทคือ KFC ที่ให้พนักงานลองทอดไก่ผ่านเกม VR โดยต้องทำให้ถูกต้องใน 10 นาทีตามขั้นตอนที่มีผู้พันแซนเดอร์คอยบรรยาย ถ้าผิดก็จะมีการลงโทษ (ในเกม) ด้วย

ที่ KFC สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ เลือกวิธีนี้ ก็เพื่อปูพื้นฐานก่อนฝึกทอดจริง (ซึ่งก็ยังต้องเรียนอยู่) ช่วยลดจำนวนวัตถุดิบที่ใช้ในการฝึกลงได้มาก จึงช่วยลดต้นทุนในการฝึกลงได้อย่างมาก

ติดกล้อง 360 องศาบนโดรน แล้วดูผ่าน VR

ปกติเรามักดูภาพจาก Drone ผ่านจอธรรมดาๆ แต่เริ่มมีความนิยมดูภาพจากโดรนแบบ 360 องศา  คือมองไปข้างหน้าเห็นขอบฟ้า ก้มหน้าเห็นเมือง เห็นท้องทุ่ง หรือเห็นป่าข้างล่าง หรือจะเงยหน้าดูฟ้าดูเมฆก็ยังได้

การดู VR ภาพจริงจากโดรนนี้ มีประโยชน์ทั้งการชมวิว ดูสถานที่ท่องเที่ยวแบบสมจริง หรือจะใช้จริงจังก็ได้ เช่นตรวจไร่นาเกษตรกรรม ตรวจไฟป่า หรือในพื้นที่อันตรายเป็นต้น

AR (Augmented Reality)

พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ซ้อนใส่กราฟฟิกและข้อมูล

แหล่งความรู้เก่าคลาสสิคอย่าง “พิพิธภัณฑ์” ต้องปรับตัวรับยุคสมัย เช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ (Natonal Museum of Singapore) ที่ใช้เทคโนโลยี AR “ซ้อน” ข้อมูลและภาพเคลื่อนไหวไปบนของจริงตรงหน้า เช่นเมื่อยกมือถือส่องโครงกระดูกปลาวาฬ ก็จะเห็นคลิปปลาวาฬตัวเต็มๆ ซ้อนขึ้นมาว่ายน้ำส่งเสียงร้องในจอพร้อมข้อมูลให้กดอ่าน

เครื่องมือที่ใช้ดู AR ก็คือมือถือ Lenovo Phab 2 Pro ซึ่งมีเทคโนโลยี “Tango” ใหม่ของ Google เพื่อใช้ส่องจุดต่างๆ ซึ่งผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะได้รับแจก แต่ต้องส่งคืนให้เจ้าหน้าที่ก่อนออก เพื่อให้คนอื่นๆใช้ต่อไป

ใช้ดูราคาสินค้าและโปรฯต่างๆ ได้โดยไม่ต้องค้นหาป้ายราคา

ร้านค้ายุคใหม่บางแห่ง เราสามารถเปิดแอพฯ ของร้าน หรือแอพ AR ดังๆ ที่มีร้านเข้าร่วมมากๆ เล็งไปที่สินค้า แล้วจะเห็นป้ายราคาและโปรโมชั่นช่วงนั้นๆ เป็นกราฟฟิกซ้อนขึ้นมา หรือเจ๋งกว่านั้นอาจเห็นตัวการ์ตูนซ้อนโผล่มาพูดแนะนำสินค้าด้วยก็มี

ตัวอย่างบัตร VISA ที่ยุโรปกำลังทดลองระบบ ให้ยกมือถือเล็งที่สินค้า แล้วจะมีป้ายราคาพร้อมปุ่มซื้อขึ้นลอยขึ้นมาในจอ ให้เรากดจ่ายตังค์แล้วใส่ถุงหรือตะกร้าเข็นหิ้วออกไปได้เลย ไม่ต้องไปยืนเข้าคิวที่แคชเชียร์ให้เสียเวลา

หรือธนาคาร UK’s Commonwealth Bank of Australia ที่ออกแอพ AR บนมือถือ ให้ผู้สนใจโหลดแล้วไปส่องที่บ้าน “สินทรัพย์รอขาย” หรือ NPA ในหลายย่าน เพื่อดูข้อมูลบ้าน ดูราคา ดูเงื่อนไขต่างๆ ฯลฯ อย่างละเอียดโดยไม่ต้องไปเสิร์ชเองให้เหนื่อย

ในทางตรงข้าม บางสินค้าก็ประยุกต์กลับทางกัน คือเมื่อใช้แอพ AR ส่องที่ใบธนบัตร  ก็จะมีภาพซ้อนขึ้นมาว่าใช้ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง  ตัวอย่างเช่นแอพ “KFC Wow Price Menu” ในอินเดีย ที่เมื่อเปิดกล้องเล็งไปที่แบงค์ธนบัตร ก็จะเห็นได้ทันทีว่าเงินเท่านั้นสั่งอะไรกินได้บ้าง โดยจะมีภาพซ้อนในจอ โผล่มาเป็นกล่อง เป็นจาน เป็นแก้วกันเลยทีเดียว

ผู้บริหารใช้ดูข้อมูลธุรกิจ

ไม่ใช่แค่ฝ่ายผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ใช้ AR เพราะล่าสุดผู้บริหารซิติแบงค์สำนักงานใหญ่มีการใช้แว่น “HoloLens” ดูข้อมูลแผนภูมิและกราฟฟิก 3 มิติต่างๆ ลอยอยู่ตรงหน้า สามารถบิดหมุนไปมาเพื่อพลิกแพลงได้หลายสถานการณ์ ง่ายกว่าการอ่านจอแบนๆหรือเอกสารอย่างมาก

อีกรายคือลอรีอัล ซึ่งมีห้องประชุมพิเศษที่สำนักงานใหญ่ มีทั้งระบบ AR และ VR ใช้ดูช็อปสินค้าต่างๆ, ดูดีไซน์ร้านใหม่, ดูข้อมูลธุรกิจ และอื่นๆ อีกมากมายเช่นกัน

VR นั้นก็เหมือนอุปกรณ์ไอทีทั่วไปที่มีหลายเกรด  ถ้าภาพชัดละเอียดหรือเกมหนักมากๆ ก็ไม่สามารถเล่นผ่านจอมือถือสอดแว่นได้  แต่ต้องใช้แว่นระดับสูงต่อกับคอมสเปคแรงๆ เช่น Oculus Rift

VR Virtual Reality

ส่วน AR ก็เช่นกัน มีทั้งแบบง่ายๆ เช่นภาพซ้อนธรรมดาอย่างเกมโปเกม่อนโก และแบบซับซ้อนกว่าที่มีการแสกนผนัง พื้น และสภาพแวดล้อมจริง เพื่อที่จะซ้อนภาพได้แนบเนียนสมจริงขึ้น เช่นระบบ ARkit ของแอปเปิลที่เปิดตัวพร้อม iPhone X ล่าสุด และระบบ Tango ของกูเกิลที่เพิ่งเปิดตัวก่อนนั้นไม่นานเช่นกัน

AR Augmented Reality

สุดท้ายต้องเข้าใจว่าทั้ง VR และ AR ไม่ได้จะมาแทนที่จอคอมพิวเตอร์  จอมือถือ หรือจอทีวีแบบเดิมๆ เพียงแต่จะมาใช้เพิ่มเติมในหลายๆสถานการณ์ ที่เราต้องการประสบการณ์รอบทิศ หรือต้องการเห็นสิ่งตรงหน้าโดยมีอะไรเพิ่มเติมมากกว่าปกติเท่านั้นเอง

แหล่งข้อมูลและภาพ :

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save