Article

เมื่อเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของคนใช้ smartphone มาผนวกกับสุขภาพ

สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวงควงมือถือ จากรายการ “แบไต๋ไฮเทค เดลี่ไฟว์ไลฟ์” ที่ถ่ายทอดสดออกอากาศ ตรงจาก Beartai Digital Gateway Studio ชั้น 4 Digital Gateway สยามสแควร์ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยออกอากาศสดไปยังสถานีทีวีดาวเทียมต่างๆ 2 ช่อง ไม่ว่าจะเป็น Mango TV และ Dude TV  ส่วนใครที่ดูสดไม่ทันก็ติดตามการ Re-Run ได้ทาง Nation Channel ทุกวันตอนเที่ยงคืนนะครับ โดยผมมาประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือน เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดถึงเทรนด์หรือแนวโน้มของเทคโนโลยีใน smartphone ที่ทำงานสัมพันธ์กับ Lifestyle ของขีวิตเราๆ กันมากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกาย การวิ่ง การปั่นจักรยาน และที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนในยุคนี้

เทรนด์และไลฟ์สไตล์ของคนใช้ smartphone มาผนวกกับสุขภาพ และการออกกำลังกาย

img_lifecare_02_phone

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมามากมายนั้น แข่งกันตั้งแต่รูปแบบการออกแบบ ขนาดของหน้าจอแสดงผล ฮาร์ดแวร์สเปค ว่าของใครจะมีสเปคแรง สเปคสูงกว่ากัน แต่สิ่งที่เราเริ่มเห็นแล้วก็คือ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันนานเท่าไร เพราะสุดท้ายก็ไล่ทันกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็น CPU, หน้าจอแสดงผล, ความละเอียดของกล้อง, ความจุของหน่วยความจำ หรือแม้กระทั่ง วัสดุที่ใช้และการออกแบบ ซึ่งทางออกหนึ่งของผู้ผลิตได้หันมาใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้นกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งานเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ชีวิตประจำวัน เช่นตัวช่วยในการมอนิเตอร์ หรือวัดค่าในการใช้พลังงานของเรา โดยใช้หลักการการติดตั้งอุปกรณ์ตัววัดอย่างพวก Pedometer ไว้ในเครื่อง โดยตัววัดนี้จะคอยนับก้าวเดินหรือก้าวการวิ่งเมื่อเกิดการสั่นสะเทือนในแนวดิ่งของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่เราถือหรือพกติดตัวไปด้วย ตลอดการเดินในชีวิตประจำวันหรือ ระหว่างการวิ่งของเรา โดยวัดออกมาเป็นหน่วยค่าพลังงาน “แคลอรี” เพื่อช่วยเป็นตัวบอกว่าเราออกกำลัง หรือใช้พลังงานไปเท่าไร ในแต่ละวันหนึ่งๆ ดีกว่าการที่เราจะมานั่งเดาเองว่าวันนี้ใช้พลังงานไปเท่าไร วันนี้วิ่งไปกี่กิโลแล้วเผาผลาญพลังงานไปเท่าไร แล้วที่เราทานเข้าไปในวันนี้มันเป็นเท่าไร หักลบกันแล้วเรากินเข้าไปมากเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานใน แต่ละวัน ซึ่งยังสามารถเก็บแทรคข้อมูลต่อเนื่องในระยะยาวจากวันเป็นอาทิตย์ แล้วไปเป็นเดือน เพื่อติดตามค่าอย่างต่อเนื่องให้ได้เห็นพัฒนาการว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร โดยเราสามารถเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะยังไงเสียเราก็ต้องพกโทรศัพท์ติดตัวไปทุกที่อยู่แล้ว

2013102216532442

S-Health

ในปัจจุบัน Samsung ถือเป็นรายแรกๆ ที่หันมาพัฒนา Application ที่จะทำงานตามฟังก์ชั่นดังกล่าว ซึ่งได้แก่ แอพฯ “S Health” ที่จะช่วยในการติดตามวัดค่าการทำงานดังกล่าวของเราในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นๆ อย่างเช่น Sony, LG, HTC, Huawei, ZTE กำลังเริ่มมีทิศทางในการออกแบบและสร้างแอพพลิเคชั่นเสริมเหล่านี้ บวกกับการติดตั้งเซนเซอร์ตัววัดและตรวจจับการเคลื่อนไหวเข้าไปในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง คาดว่าจะกลายเป็นฟีเจอร์ที่ผู้ผลิตมือถือจะหันมาใช้ในการโปรโมทเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต แต่สำหรับใครที่มีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ก็สามารถมองหาแอพฯ ที่อยู่ใน “Play Store” หรือ “App Stock” ที่เป็นแอพฯ เกี่ยวกับ การออกกำลังหรือเกี่ยวกับสุขภาพ มาดาวน์โหลดใส่เครื่องกันได้นะครับ ปัจจุบันมีอยู่มากมายให้เราได้เลือกใช้กันตามความเหมาะสม อาทิเช่น Runtastic Running & Fitness, RunKeeper, Noom Walk, Calorie Counter, Adidas miCoach Mobile และอีกมากมายมีให้ใช้กัน

ออกกำลังกายให้ได้ผล ควรมีอุปกรณ์และตัวช่วยที่ดี เพื่อเข้าใจสิ่งที่ออกกำลังไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Untitled-1

 

ขณะที่การมีสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยเป็นเครื่องมือในการวัดการออกกำลังกายไปกับเรา แต่ก็มีอุปกรณ์และตัวช่วยอื่นๆ ที่สามารถทำหน้าที่นั้นร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ดีขึ้นไปอีกสเตปหนึ่ง แม่นยำและละเอียดยิ่งขึ้น หรือใช้เป็นตัวช่วยโดยไม่ต้องมีสมาร์ทโฟนติดตัวตลอดเวลาก็ทำได้ ซึ่งเรากำลังพูดถึงอุปกรณ์แก็ดเจ็ตสวมใส่ (Wearable Gadget หรือ Wearable Computer) ซึ่งอุปกรณ์เรานี้จะถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถสวมใส่ติดตัวเราไปได้ตลอดเวลา โดยจะใช้เก็บข้อมูล ช่วยบอกตำแหน่ง บอกระยะ และบอกสถานะของการออกกำลังกายของเราว่าเป็นไปอย่างไร หรือแม้แต่การช่วยในการตรวจจับสภาพการนอนของเราว่ามีการนอนที่มีคุณภาพได้ดีแค่ไหน  รวมถึงความสามารถในการวัดชีพจร การเต้นของหัวใจในระหว่างการออกกำลังการได้อีกด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ หักโหมเกินไปหรือเปล่า อุปกรณ์พวกนี้มักถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถทำการสวมใส่ติดตัวได้อย่างง่ายๆ เบาๆ และมีขนาดกระทัดรัด เพื่อใช้ในระหว่างการวิ่ง หรือการปั่นจักรยาน เช่นมีการออกแบบเป็นเหมือนกำไรข้อมือ ยกตัวอย่างเช่น Jawbone Up!, Nike Fuel Band+, FitBit, Sony Smart Band, LG Life Band, Garmin Vivofit เป็นต้น หรือออกแบบมาเป็นนาฬิกาซึ่งสามารถใช้วัดค่าต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงมี GPS ติดตั้งมาด้วย อาทิเช่น Runtastic GPS Watch, Adidas miCoach Smart Run Watch,  Garmin Forerunner Watch

ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถทำงานกับอุปกรณ์สายรัดเพื่อทำการวัดค่าชีพจรได้ทันที แล้วสามารถส่งค่าที่วัดต่างๆ มายังสมาร์ทโฟนเพื่อทำการประมวลผล กับแอพฯ ที่เราติดตั้งไว้ในเครื่อง (แนะนำใช้แอพฯ ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เป็นคนพัฒนาขึ้นมา เพื่อการทำงานที่แม่นยำ) โดยแอพฯ จะทำการเก็บสถิติ เพื่อให้เราได้เข้าถึงข้อมูลของการออกกำลังกายที่เราได้ทำไป และตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมต่อไปว่าในแต่ละวันหรือวันต่อๆ ไป เราจะออกกำลังกายอย่างไรเพื่อให้ร่างกายเราฟิตแอนด์เฟิร์ม หรือออกกำลังกายอย่างไรเพื่อควบคุม หรือลดน้ำหนักตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

แนวโน้มต่อไปในอนาคตอันใกล้กับอุปกรณ์สวมใส่ Wearable Computer

Untitled-2

ปัจจุบันในปีนี้แนวโน้มของอุปกรณ์สวมใส่แบบ Wearable Device หรือ Wearable Computer ยิ่งมีความแพร่หลายยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทิศทางของการพัฒนาเริ่มมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น มีความเป็นแฟชั่นมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ สีสันที่ใช้ หรือรูปทรงการออกแบบที่มีความหลากหลายมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในไลฟ์สไตล์ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะออกแบบมาเป็นแบบลักษณะคล้ายๆ กำไร เพื่อสะดวกในการพกพา หรือติดตัวไปได้ทั้งวัน หรือจะออกแบบมาคล้ายกับนาฬิกาเพื่อใช้ประโยชน์ได้แบบ All-In-One หรือพูดง่ายๆ ว่าเบ็ดเสร็จในอุปกรณ์เดียว ทำให้ไม่ต้องมีหลายชิ้นติดตัวไปตลอด แม้แต่การออกแบบมาให้เหมาะสมกับกิจกรรมการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไป เช่น การวิ่ง ซึ่งอุปกรณ์มักจะถูกออกแบบมาให้มีขนาดเบาและเล็กเพื่อสามารถพกพาได้สะดวก ไม่เกะกะ โดยเฉพาะสำหรับ นักวิ่งมาราธอน อุปกรณ์เหล่านี้มักจะมาใช้รูปแบบของนาฬิกาซึ่งนับวันจะทำงานได้ชาญฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็ติดตั้ง GPS, Bluetooth ไว้ในตัวด้วย หรือจะมีรูปแบบคล้ายกำไรข้อมือที่แนบติดกับข้อมือ รวมถึงต้องทนต่อการสัมผัสน้ำได้ด้วย

สำหรับคนที่ชอบการออกกำลังกายด้วยวิธีการ ปั่นจักรยาน ก็มีการออกแบบอุปกรณ์เหล่านั้นให้สามารถติดตั้งกับแฮนด์ ของจักรยานที่เราควบคุมอยู่ด้านหน้า ขณะที่แนวโน้มการออกแบบใหม่ๆ จะมีลักษณะคล้ายๆ กับแว่นกันแดด แต่มีหน้าจอแสดงผลอยู่บนกระจกเลนส์ ซึ่งเราสามารถเห็นข้อมูลผ่านทางแว่นตา โดยที่เราไม่ต้องละสายตาออกจากถนน ลักษณะคล้ายๆ กับการทำงานของ Google Glass ยังไงยังนั้นเลย ขณะที่เทรนด์ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการพัฒนาดัดแปลงเพื่อนำไปใช้กับการออกกำลังกายอื่นๆ ออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็นกีฬา กอล์ฟ, การว่ายน้ำ, การออกกำลังกายในฟิตเนส หรืแม้แต่การออกกำลังอื่นๆ ที่สามารถเล่นคนเดียวได้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เราคงได้เห็นการพัฒนาการของอุปกรณ์และแอพฯ บนสมาร์ทโฟน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงเป็นตัวช่วยให้เราได้มีการออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากยิ่งขึ้น บนโลกที่อยู่ยากยิ่งขึ้นไปทุกวัน…

Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save