Article

Snapchat แอพฯ แชตสูตรใหม่ ได้ใจคนยุคมิลเลนเนียม | Monza

ชั่วโมงนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “สื่อใหม่ (New Media)” ในสังคมไทย มักจะไปจบที่เฟสบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม! แต่ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นนับร้อยล้านคนต่างอ้าแขนรับ “สแน็ปแชต (Snapchat)” ในอ้อมใจ

ชั่วโมงนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “สื่อใหม่ (New Media) ในสังคมไทย มักจะไปจบที่เฟสบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม! แต่ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นนับร้อยล้านคนต่างอ้าแขนรับ “สแน็ปแชต (Snapchat) ในอ้อมใจ ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยแต่ได้ยินชื่อสแน็ปแชตแบบผ่านๆ หรือลองลงแอพฯ มาแล้วรู้สึกโหรงเหรงเพราะไม่มีเพื่อนมาเล่นด้วยล่ะก็…ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะวันนี้สังคมไทยยังไม่ได้เข้าสู่ยุค “สแน็ปแชตฟีเวอร์” นั่นเอง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าตั้งเวลารอให้ถึงวันนั้นได้เลย!

01

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนหยิบเอาเรื่องราวของสแน็ปแชตมาเจาะลงลึกในครั้งนี้ก็เพราะข่าวใหญ่ที่ว่าเฟสบุ๊กได้เข้าซื้อแอพฯ ที่ใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อใส่ภาพกราฟฟิกแทนหน้ากาก (โดยไม่ต้องไปซื้อมาสก์มาใส่ถ่ายรูป) Masquerade (stylized as MSQRD)  ซึ่งถือว่าแอพฯ แนวนี้ไม่ได้ใหม่ แต่เพราะจังหวะเวลา และโชค จึงทำให้มันถูกซื้อไปโดยบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ของโลก และผู้เขียนเชื่อว่าเฟสบุ๊กจะนำเทคโนโลยีของแอพฯ นี้มาใส่เฟสบุ๊ก แมสเซ็นเจอร์ และค่อยๆ เดินตามรอยความสำเร็จของ ““สแน็ปแชต” นั่นเอง!

02

ดังนั้นหากอยากรู้อนาคต ก็ต้องเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของต้นแบบแอพฯ แชตในตำนานอย่าง “สแน็ปแชต” เสียก่อน!

ในคอลัมน์ Mobile Insider ฉบับนี้ ผู้เขียนขอใช้เลนส์ของสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ที่ผสานความเข้าใจ “สื่อใหม่” เพื่อนำมาคุณไปรู้จักกับแอพฯ “สแน็ปแชต” ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บัญญัติบรรทัดฐานใหม่ของคำว่า “สื่อใหม่” ได้อย่างคมกริบ ทั้งยังหารายได้จากสื่อของตัวเองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำด้วยวิถีที่แปลกกว่าชาวบ้านอีกด้วย!

Snapchat บัญญัติวิธีสื่อสารใหม่ของวัยทีน!

ชื่อของแอพฯ ก็บอกชัดเจนแล้วว่า Snapchat ซึ่งมาจากคำว่า สแน็ป (Snap) ที่แปลว่าถ่ายรูป และ แชต (Chat) ที่แปลว่าสื่อสาร ดังนั้นฟีเจอร์หลักแรกเริ่มของแอพฯ นี้คือ การสื่อสารกันระหว่างเพื่อนผ่านการถ่ายภาพ เพราะคนคิดแอพฯ รู้ดีว่าทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่เขียนและอ่านกันน้อยลง ฉะนั้นพวกเขาใช้วิธีถ่ายพูดด้วยภาพถ่าย (ที่ถ่ายจากมือถือ) นั่นเอง

03

และจุดที่ทำให้สแน็ปแชตโดดเด่นกว่าโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็คือ มันเกิดมาเพื่อเอาชนะด้านลบๆ ของบริการอื่นๆ อาทิ

* ข้อมูลโพสต์แล้วอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดกาล (หากเราไม่ลบเอง) แต่ สแน็ปแชตลบทันทีที่คนเปิดอ่านครั้งแรก

ดังนั้นวัยรุ่นที่ชอบทำอะไรแผลงๆ พูดไม่คิดย่อมจะถูกใจแอพฯ นี้อย่างมาก เพราะไม่ต้องกลัวว่าคนจะเอาภาพเราไปตัดต่อล้อเลียนทีหลัง

* ต้องคิดเยอะก่อนโพสต์ แต่ สแน็ปแชตเอามันส์เข้าว่า (เพราะส่งหาแต่คนรู้จัก)

เพราะเฟสบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ อินสาแกรม ทำตัวเป็นสื่อส่วนบุคคลที่จะเผยแพร่เรื่องตัวเองสู่สาธารณะ โพสต์ครั้งเดียวคนเห็นทั้งโลก ฉะนั้นการจะโพสต์อะไรต้องคิดให้คม ซึ่งอะไรที่ต้องคิดเยอะๆ ย่อมไม่ถูกจริตวัยรุ่นอยู่แล้ว สแน็ปแชตเป็นอีกฝากตรงข้าม อยากทำอะไรบ้าๆ บอๆ ฮาๆ ก็แค่ถ่ายรูปและส่งมันออกไปให้เพื่อนคนสนิท วิธีนี้เน้นฮาล้วนๆ ไม่ต้องเฝ้าอ่านคอมเม้นต์ให้ปวดใจอีกด้วย!

รู้จัก “เอว่น สปีเกิล” ซีอีโอหนุ่มครบสูตร

04

สำหรับคนที่ชอบตามข่าวดาราก็อาจจะคุ้นหน้า “เอว่น สปีเกิล (Evan Spiegel)” ซีอีโอสแน็บแชตคนนี้อยู่แล้ว เพราะตอนนี้เขาควงกับดาราสาวหุ่นเอ็กซ์อย่าง “มิแรนด้า เคอร์ (Miranda Kerr) ภรรยาเก่าดาราหนุ่ม “ออลันโด บลูม” และหากใครตามข่าวสตาร์ทอัพก็จะพบว่าหนุ่มคนนี้ก็ยังติดอันดับเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาหลายปีด้วย เพราะตอนนี้เขาอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น

ประวัติของสแน็ปแชตก็ดราม่าเหมือนเฟสบุ๊ก ตั้งแต่ตัวเอาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อมาสร้างบริษัทของตัวเอง และตอนแรกคิดค้นโดยเพื่อนรักทั้งหมด 3 คน แต่ภายหลังขัดแย้งกันมีคนหนึ่งต้องออกไป ซึ่งตอนนี้คดีความฟ้องร้องยังไม่สิ้นสุด

และที่เด็ดที่สุดก็คือ เมื่อ 3 ปีก่อน เขาเคยปฏิเสธเงิน 1 แสนล้านบาทจากการของเข้าซื้อแอพฯ สแน็ปแชตจากเฟสบุ๊ก!

จากการเตรียมข้อมูลทั้งหมดก่อนมาเป็นต้นฉบับนี้บอกได้เลยว่า ความสำเร็จของซีอีโอหนุ่มคนนี้มาจาก 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ เขาเข้าใจสื่อมือถือ (Mobile Media) อย่างถึงแก่นแท้ และเหตุผลประการต่อมาคือ เข้าใช้วิธีการช้อปปิ้งแหลก เพื่อเข้าซื้อบริษัทที่มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ แล้วนำมาปรับเข้ากับแอพฯ ของเขา! ซึ่งทำให้มันโตไว ใช้สนุก เข้ากับกลุ่มลูกค้ายุคมิลเลนเนียมได้จริงๆ

จากสถิติล่าสุดจากสื่อชั้นนำอย่างบลูมเบิร์กของอเมริกาย้ำว่า “สแน็ปแชต” ได้ฟีเวอร์มากๆ ในอเมริกา เพราะมียอดผู้ใช้ประจำทุกวันสูงถึง 100 ล้านคน และแต่ละวันมีคนเปิดวิดีโอต่างๆ ที่สมาชิกส่งหากันสูงถึง 8,000 ล้านครั้ง และคาดว่ารายได้ของสแน็ปแชต (แอพฯ ที่รูปไอค่อนเป็นผีแคสเปอร์แลบลิ้นสุดทะเล้น) ปีนี้จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป มันจะเป็นไปได้ไง? เรามีคำตอบให้คุณ!

สแน็ปแชต เสกการถ่ายรูปให้สุดมันส์

เพราะคนรุ่นใหม่สื่อสารด้วยภาพ (ไม่ใช่ข้อความ) ดังนั้นทำยังไงให้ที่จะทำให้การถ่ายภาพสนุกและมันยิ่งขึ้น ผลก็ออกมาเป็น 2 ฟีเจอร์ปฏิวัติวงการแอพฯ ถ่ายรูป ได้แก่ ฟิลเตอร์ และ เลนส์

จากฟิลเตอร์แต่งสีถูกอัพเกรดสู่ฟิลเตอร์ระบุพิกัด (Geofilter) :

05

06

เราคุ้นเคยกับคำว่า “ฟิลเตอร์” นี้ดีจากการเลือกสีแต่งภาพในแอพฯ อินสตาแกรม แต่สแน็ปแชตอัพเกรดมันให้ล้ำกว่านั้นด้วยการสร้างฟิลเตอร์ให้อัตโนมัติและอินเตอร์แอคทีฟ กล่าวคือ นอกจากเปลี่ยนสีภาพหรือวิดีโอแล้ว ยังทำให้ฟิลเตอร์มีชีวิตมากขึ้น ด้วยการทำเป็นกรอบภาพ ที่เชื่อมโยงกับพิกัดตำแหน่งพื้นที่ (Geofilter) เช่น เราถ่ายภาพใน กทม. ก็จะมีคำเก๋ๆ เขียนว่า Bangkok ขึ้นมาให้เลือก เป็นต้น

ซึ่งวิธีการเอาฟีเจอร์นี้มาหารายได้ก็ชัดเจน นั่นคือ การเปิดให้คนธรรมดา และแบรนด์ต่างๆ มาสร้างภาพฟิลเตอร์ของตัวเอง เช่น ฟิลเตอร์โลโก้งานแต่ง ฟิลเตอร์กรอบภาพของงานอีเว้นท์แบรนด์เครื่องสำอาง เป็นต้น สนนราคาของมันก็เริ่มต้นที่ 160 บาท สำหรับการโชว์ฟิลเตอร์นี้เป็นเวลา 8 ชั่วโมง พิกัดระยะครอบคลุมใกล้ เช่น งานแต่ง งานวันเกิด และจะยิ่งแพงขึ้นหากมีโลโก้แบรนด์ต่างๆ มาอยู่ด้วย

วิดีโอแนะนำการทำงานของ Geofilter

https://youtu.be/nJx6R5zbIfk

ดูวิดีโอการออกแบบฟิลเตอร์ด้วยตัวเองที่นี่

เลนส์เก๋ๆ เพื่อการเซลฟี่ที่สุดเพี้ยน!

07

เพราะสแน็ปแชตคือ การถ่ายรูปเอามันส์ส่งกันระหว่างเพื่อนฝูง ฉะนั้นเอฟเฟ็คท์หน้าใส ลบสิว ไม่ใช่ทางของแอพฯ นี้ แต่กลับเป็นการใช้เทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้า (Face recognition) แล้วโชว์ภาพกราฟฟิกแปลกตาเรียกเสียงฮาได้ทั้งวง

ซึ่งฟีเจอร์นี้ทีมงานสแน็ปแชตก็ไม่ได้คิดค้นขึ้นเอง แต่ได้มาจากการเข้าซื้อบริษัททำแอพฯ ชื่อ Looksery เมื่อปลายปี 2015 ที่ผ่านมา จนปีนี้ก็ออกมาเป็นฟีเจอร์ใหม่ของสแน็ปแชตที่ชื่อสั้นๆ ว่า เลนส์

เบื้องต้นมีการขายเลนส์ในราคา 2 เท่าของสติ๊กเกอร์ไลน์ คือ ประมาณ 70 บาท แต่ระยะหลังก็หาสปอนเซอร์ต่างๆ เข้ามาร่วมวงด้วย โดยรายแรกคือ ค่ายหนังอย่าง 20 เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ก็ยอมทุ่มเงินหนาๆ เพื่อสร้างเลนส์ในสแน็ปแชตเป็นรูปการ์ตูนสนูปปี้สุดน่ารัก เพื่อโปรโมทหนังเรื่องนี้เข้ากับกลุ่มวัยทีน

ว่ากันว่ามูลค่าของการเข้าซื้อเลนส์เป็นรูปต่างๆ ตามใจแบรนด์นี้ สนนราคาเริ่มต้นที่ วันละ 16 ล้านบาทเลยทีเดียว!!!

วิดีโอโชว์คนแอ๊คท่าฮาๆ เมื่อกำลังเล่นฟีเจอร์เลนส์

สแน็ปแชต แหล่งเสพ “สื่อเก่า” ใน “จอใหม่”!

08

 ตอนนี้คนวงการสื่อเก่าอย่างทีวี นิตยสาร รุ่นคุณลุงคุณป้า ต่างก้มหน้าเครียด เพราะยากเหลือเกินที่จะดึงวัยทีนมาเสพสื่อเก่าๆ แบบนี้ เพราะพวกเขาเอาเวลาทั้งวันมาจ้องหน้าจอ “มือถือ” มือถือรั้งตำแหน่งศูนย์รวมสื่อ และคือสื่อมวลชนแขนงที่ 7 อย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้นทำยังไงที่จะทำเนื้อหาให้ถูกใจและเข้าไปถึงยังจอมือถือ แบบถูกที่ ถูกรูปแบบ และถูกเวลาได้ คำตอบก็คือ ฟีเจอร์ Discover ของสแน็ปแชต ที่เปิดให้ 18 สื่อทั้งขาใหญ่จากสื่อเก่าอย่าง CNN, DailyMail, National Geographic, MTV, Cosmopolitan ไปถึงสื่อออนไลน์ดังอย่าง Buzzfeed, Mashable มาทำเนื้อหาอินเตอร์แอคทีฟรูปแบบพิเศษที่เข้ากับการเสพสื่อผ่านจอมือถือแนวตั้ง

เมื่อคุณได้ลองเสพเนื้อหาจากเมนู Discover แล้วก็จะพบว่า มันไม่ใช่ทั้งทีวี ไม่ใช่ทั้งนิตยสาร แต่มันเป็นอะไรที่ผสมๆ กันแล้วลงตัวในการอ่านแบบพอดิบพอดีบนจอมือถือระดับ 4 นิ้วนั่นเอง

09

เมื่อมีเนื้อหาให้อ่านฟรี ก็ต้องมาถึงวิธีการหารายได้ ซึ่งส่วนนี้ทางสแน็ปแชตก็เลือกใช้โมเดลเดิมที่สื่อเก่าๆ ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผล นั่นก็คือ การหาโฆษณา

ซึ่งโฆษณาที่แทรกระหว่างการเสพข่าวภาพเมนู Discover ถูกคิดมาแล้วว่าเป็นฟอร์แมตที่เรียกว่า “3V” มาดูกันว่าแต่ละ V นั้นคืออะไรกัน

10

Vertical – เฉพาะจอมือถือเป็นจอแนวตั้ง ฉะนั้นเนื้อหาของ Discovery จะต้องถูกออกแบบใหม่ให้เข้ากับจอแนวตั้ง (คนใช้จะได้ไม่ต้องพลิกจอไปมา)

Video – เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า “วิดีโอ” คือ วิธีการอธิบายเรื่องราวได้ดีและเร็วที่สุด

View – การรับชมแบบเต็มจอทั้ง 4 นิ้ว ทำให้คนรู้สึกว่าเสพสื่อนี้ได้เต็มอิ่ม และไม่มีอะไรมากวนสายตา

ทั้งหมดนี้จึงทำให้สแน็ปแชตกล้าเหลือเกินที่จะขายโฆษณาแทรกในเมนู Discover ด้วยราคาที่สูงสุดขีด นั่นคือ 600 บาท ต่อ การเข้าชมโฆษณา 1 ครั้ง! เพราะเขามั่นใจกับทางผู้ลงโฆษณาว่าลูกค้าจะใจจดใจจ่อเสพสารโฆษณาของคุณอย่างแท้จริง!

นอกจากนี้ในส่วนของ Discovery ยังมีเมนูย่อย Live Stories เพื่อโปรโมทอีเว้นท์ดังๆ ที่อยากมาลงถ่ายทอดสดผ่านสแน็ปแชตด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งงานใหญ่อย่าง การประกาศรางวัลออสการ์ นิวยอร์กแฟชั่นวีค เป็นต้น ซึ่งหากอีเว้นท์ไหนต้องการมาเปิดช่องโชว์บรรยากาศสดๆ ที่สแน็ปแชต ก็ต้องยอมจ่ายถึง 3.6 ล้านบาท/วัน เพื่อเข้าถึงลูกค้าวัยทีนฐานหลักของแอพฯ ซึ่งก็คือ คนอายุตั้งแต่ 13-34 ปีนั่นเอง

11

มาถึงตอนนี้ เชื่อว่าหลายคนที่เคยมองข้าม “สแน็ปแชต” ไป คงคิดไม่ถึงเลยว่าทำไม๊ ทำไม แอพฯ พิลึกของวัยทีนจะสามารถสร้างรายได้โดยตรงจากโฆษณาและสปอนเซอร์ได้สูงแซงหน้าสื่อเก่า หรือแม้แต่สื่อใหม่รุ่นพี่อย่างกูเกิล เฟสบุ๊ก และทวิตเตอร์อย่างไม่เห็นฝุ่น

สุดท้าย หากถามถึงอนาคตของสแน็ปแชต ตอบแบบฟันธงเลยก็คือ การมุ่งเป้าไปหา 2 เทรนด์ที่ยังไม่ได้ทำและต้องทำนั่นก็คือ การผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มาเชื่อมกับแอพฯ เพราะปี 2014 สแน็ปแชตได้เข้าซื้อบริษัท Vergence Labs ที่ทำแว่นตาอัดคลิปวิดีโอไปแล้ว และอีกส่วนคือ การอัพเกรดตัวเองให้เข้าสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซ ทำให้คนคลิกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่แนะนำผ่านหน้าจอ ซึ่งก็น่าจะทำได้ไว เพราะก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับ “สแควร์ (square)” บริษัททำระบบจ่ายเงินออนไลน์ เพื่อช่วยให้คนโอนเงินหากันผ่านแอพฯ สแน็ปแชตได้ง่ายขึ้น แค่พิมพ์เครื่องหมายดอลล่าร์ $ แล้วตามด้วยจำนวนเงิน!

12

ผู้เขียนมิใช่ Influencer ตัวเอ้ จึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปรากฏการณ์ “สแน็ปแชตฟีเวอร์” จะเกิดขึ้นในแดนสยามของเราเมื่อไหร่ แต่จากการวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ก็มั่นใจได้ว่า “มันมาแน่” เพราะธรรมชาติของสื่อมันถูกจริตของคนไทยผู้รักสนุกเสียเหลือเกิน!

 

 

 

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save