Article

Mobile Payment เทรนด์แรงแห่งปี 2017? | สมคิด เอนกทวีผล

ปี 2017 ไทยกำลังเริ่มเข้าสู่ยุค Mobile Payment ก่อเกิดพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบใหม่ ที่จะมี “กระเป๋าเงินดิจิตอล” อยู่ในโทรศัพท์มือถือ โดยแค่ลงทะเบียนบัตรเครดิตทางออนไลน์ครั้งเดียว ก็จะใช้จ่ายเงินซื้อของจริงๆ ได้ตลอดตามห้างร้านต่างๆ

ปี 2017 ไทยกำลังเริ่มเข้าสู่ยุค Mobile Payment ก่อเกิดพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบใหม่ ที่จะมี กระเป๋าเงินดิจิตอล อยู่ในโทรศัพท์มือถือ โดยแค่ลงทะเบียนบัตรเครดิตทางออนไลน์ครั้งเดียว ก็จะใช้จ่ายเงินซื้อของจริงๆ ได้ตลอดตามห้างร้านต่างๆ โดยไม่ต้องการหยิบกระเป๋าตังค์มานับแบงค์และนับเงินทอน และอาจไม่ต้องหยิบมือถือออกมาด้วยซ้ำ

mobile-payments-1940x1292

บริษัทต่างๆ ตั้งแต่ยักษ์ไอทีระดับโลกอย่าง Google Apple และผู้ผลิตมือถืออย่าง Samsung ผู้ผลิตแอพฯ อย่าง Line ไล่มาจนถึงระดับประเทศไทยคือผู้ให้บริการมือถือต่างๆ และอีกหลายบริษัท กำลังพากันบุกตลาด Mobile payment หวังจะมามีส่วนในกระเป๋าตังค์ดิจิตัลของผู้คนมากมายมหาศาลต่อไป

…ซึ่งถ้าใครมาไวและได้ฐานลูกค้าก่อน ก็จะ เสมือนได้เป็นเจ้าของกระเป๋าตังค์ของคนยุคหน้า (Digital wallet) ครองความได้เปรียบทางธุรกิจไปได้ยาวๆ

Mobile payment นั้นมีทั้งการใช้ซื้อของในโลกจริงๆ และการซื้อของในโลกออนไลน์ แต่ที่น่าจับตาในไทยปีนี้คือการใช้ซื้อของในโลกจริงๆ ณ แคชเชียร์ แทนเงินสดและแทนบัตรเป็นใบๆ แบบเดิมนั่นเอง

ใช้มือถือแทนกระเป๋าตังค์

            ต่อไปเรามาทำความรู้จัก Mobile payment ที่ว่านี้ ผ่าน Apple Pay, Android Pay, และ Samsung Pay

2

Apple ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ โดยเปิดตัว “Apple Pay” มาตั้งแต่กันยายน 2014 หรือกว่าสองปีที่แล้ว พร้อมๆ กับ iPhone 6 โดยเป็นการนำระบบบัตรเครดิตและเดบิต (Visa, MasterCard, American express) ไปผูกเข้ากับแอพฯ ซึ่งส่งสัญญาณสื่อสารกับเครื่องแคชเชียร์ผ่านระบบ NFC ได้และมีระบบยืนยันตัวตน

ระบบยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยนี้ Apple ใช้ระบบ Touch id หรือการสแกนนิ้วมือเข้าช่วย ซึ่งมือถือที่จะใช้ Apple Pay ได้ก็ต้องเป็น iPhone 6 , iPhone 6 plus ขึ้นไป หรือ Apple Watch , iPad Air 2 และ iPad 3 mini ขึ้นไป ส่วนประเทศที่สามารถใช้งาน Apply pay ได้ตอนนี้มีทั้งหมด 6 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, จีน และสิงคโปร์

ประเทศไหนจะใช้ Apple Pay ได้นั้น ต้องมีพร้อม 3 อย่าง คือฝ่ายร้านค้ามีเครื่องคิดเงินระบบ PayWave หรือ Contactless, ฝ่ายบริษัทบัตรมีระบบ PayWave หรือ Contactless, และฝ่ายธนาคารผู้ออกบัตรยอมรับให้ใช้ผ่านมือถือ Apple ได้

ในไทยปัจจุบันมีอย่างแรกและอย่างที่สองแล้ว ขาดแต่อย่างที่สามซึ่งธนาคารในไทยยังไม่เปิดรับ แต่ถ้าใช้บัตรจากต่างประเทศที่รองรับ Apple Pay มาชำระเงินร้านค้าบางแห่งในไทยซึ่งมีระบบ PayWave รองรับบัตรดังๆ ข้างต้นๆ ก็ใช้ได้ในไทยเลย

3

ฝ่าย Google เปิดตัว “Android Pay” ในปีถัดมาคือเดือน พ.ค. 2015 ชูจุดขายเปิดกว้างให้แอพฯ ไหนก็ได้ที่รับบัตรเครดิต ก็สามารถรับจ่ายเงินผ่าน Android Pay ได้ทันที ซึ่งมีข้อดีคือผู้ใช้ไม่ต้องไปไล่ตั้งค่าบัตรเครดิตทีละแอพฯ อีกต่อไป โดยบริการที่รองรับ Android Pay แล้วก็เช่น Uber, Groupon, Livingsocial และอีกหลายแอพฯ หลายร้าน ส่วนมือถือที่ใช้ได้ก็คือทุกรุ่นที่มีชิป NFC และเป็นระบบ Android 4.4 ขึ้นไป

ปัจจุบัน Android Pay ใช้ได้ในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และสิงคโปร์แล้วตามลำดับ รองรับบัตรเครดิต Visa และ MasterCard ที่ออกโดยธนาคาร DBS, OCBC Bank, POSB, Standard Chartered Bank, UOB

4

ที่น่าจับตาล่าสุดคือ “Samsung Pay” ซึ่งเพิ่งมาเปิดตัวถึงงาน Thailand Mobile Expo โดยระบบการทำงานคล้าย Apple Pay, Android Pay แต่จุดต่างที่สำคัญ (มากสำหรับชาวไทย) คือใช้กับเครื่องรูดบัตรต่างๆ ในไทยได้แทบทุกเครื่อง และรองรับบัตรเครดิต (ยังไม่รองรับบัตรเดบิต )ของธนาคารในไทยต่างๆ ทั้ง ธ.กรุงเทพ, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงศรี, Citibank และ KTC

ที่ Samsung Pay ใช้กับเครื่องรูดบัตรส่วนใหญ่ได้ ก็เพราะนอกจากจะใช้ NFC แล้ว ยังสามารถจำลองคลื่นแม่เหล็กเลียนแบบการรูดการ์ดจริงแบบเก่าๆ ผ่านช่องรูดเดิมๆ ได้ (เจ้าของมือถือควรทำเอง ไม่ใช่ส่งมือถือให้พนักงานไปรูดให้) และยังใช้กับเครื่องรูด mPOS ที่เสียบกับโทรศัพท์ได้อีกด้วย

Samsung Pay จึงใช้ได้กับเครื่องรูดบัตรแบบเดิมๆ ที่ไม่รองรับ NFC ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบันในไทยเรามีเครื่องรูดบัตรที่ไม่รองรับ NFC ราว 4 แสนเครื่อง และมีเครื่องที่รองรับ NFC แค่ราว 3 หมื่นเครื่องเท่านั้น ซึ่งการจะใช้ Apple Pay และ Android Pay ไปซื้อของที่ร้านไหน ร้านนั้นต้องมีเครื่องรับบัตรที่เป็นแบบ NFC ด้วย

                การใช้งานก็ต้องเริ่มจากมีมือถือตระกูล Samsung Galaxy รุ่นใหม่ๆ (ยกเว้น S6 และ S6 Edge ที่ขายในไทย จะใช้ไม่ได้) ดาวน์โหลดแอพฯ Samsung Pay แล้วสมัครลงทะเบียนด้วยเครื่องที่จะใช้, ลายนิ้วมือ, เลขพาสเวิร์ดที่ระบบจะส่ง SMS ให้, และขั้นตอนอื่นๆ อีกเล็กน้อยเป็นอันเสร็จ

                และยังมีอีกรายที่ใหญ่โตกว่า Mobile payment เพราะครอบคลุมการซื้อของผ่านเว็บทั่วไปด้วย นั่นคือ Alipay ของอาลีบาบาจากจีนนั่นเอง ซึ่งเป็นระบบการจ่ายเงินออนไลน์ยอดฮิตในจีนที่ล่าสุดเพิ่งมารุกตลาดไทยโดยร่วมมือกับกลุ่มซีพี …โดยการบุกไทยครั้งนี้เริ่มจากให้ร้านเซเว่นฯ รับจ่ายเงินผ่าน Alipay ด้วยมือถือ ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนในไทยซื้อของจากเซเว่นได้สะดวกสบายขึ้นมาก แต่สำหรับผู้ใช้ชาวไทยซึ่งยังแทบจะไม่มีเลยนั้น “Alipay” ยังไม่แสดงกลยุทธ์แน่ชัดว่าจะสร้างฐานผู้ใช้ใหม่ๆ ที่เป็นคนไทยอย่างไร ?

จากกระเป๋าโลกสู่กระเป๋าไทย

กลับมาที่คนไทยเรา พฤติกรรมเดิมๆ ที่คนไทยชอบใช้จ่ายผ่านบัตรต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต ฯลฯ และหลังๆ ก็ฮิตซื้อของทางเน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นฐานอย่างดีให้ Mobile payment ต่างๆ เติบโตก้าวกระโดดในไทยได้ไม่ยากจากนี้ไป

หรือตัวอย่างใกล้ตัวทุกวันนี้ก็คือแอพฯ Line ที่ใช้สติกเกอร์ต่างๆ กันจนชินแล้ว แต่นี่เป็นแค่การซื้อไอเท็ม หรือ สินค้าดิจิตัล ในระบบของไลน์เองเท่านั้น แต่ต่อไปแอพฯ และการยืนยันตัวตนแบบนี้ ก็สามารถใช้เป็นเสมือนลายเซ็นไปแสดงตัวตนซื้อของได้โดยไม่ต้องควักบัตรเครดิตมาเซ็นหรือกรอกข้อมูลบัตรให้วุ่นวายเวลาซื้อของ ไม่ว่าจะซื้อที่ร้านจริง หรือซื้อผ่านเว็บผ่านแอพฯ …ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่แอพฯ สื่อสารอย่าง Line มาทำ “Line Pay” ที่หลายคนก็เคยใช้ซื้อสินค้าจริงต่างๆ มาแล้วนอกจากสติกเกอร์

5

 

ฝ่ายค่ายมือถือทั้ง 3 ในไทย อย่าง AIS, True, และ dtac ก็น่าจับตามองในเรื่องนี้ โดย AIS มี “mPay”, True มี “TrueMoney”, ส่วน dtac ก็มี “Paysbuy” เป็นบริษัทในเครืออยู่ ซึ่งการเข้าสู่ Mobile payment ของค่ายเหล่านี้ ก็เช่นการเปิดให้ใช้บัตรเติมเงินของตัวเอง ไปจ่ายค่าอื่นๆ นอกจากค่าบริการมือถือได้ เช่นเติมเงินในเกมต่างๆ ฯลฯ

 6

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สามารถพัฒนาและหาพันธมิตรต่อไปให้นำไปจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้ทุกแห่งทุกที่ต่อไปเช่นกัน โดยค่ายมือถือทั้งหลายก็จะมีรายได้ค่าธรรมเนียม และมีสิทธิไปเชื่อมโยงทำโปรโมชั่นกับผู้ค้าสินค้าและบริการต่างๆ ได้มากมาย

…แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกอย่าง Samsung Pay, Apple Pay และ Android Pay แน่นอน

 

ไทยน่าจะฮิตใช้ซื้อของออฟไลน์ …แต่การซื้อออนไลน์ยังเป็นคำถาม

หากพูดถึง Mobile Payment ในส่วนของการซื้อของออฟไลน์ ณ ร้านค้าจริงๆ ก็น่าเชื่อว่าจะมาครองไลฟ์สไตล์คนไทยแทนที่การหยิบกระเป๋าตังค์มาหยิบบัตรจริงแบบเดิมๆ ได้ไม่ยากนัก เพราะคนไทยก็นิยมรูดบัตรตามห้างหรือร้านอาหารกันเยอะอยู่แล้ว

7

แต่ถ้าพูดถึง Mobile payment กับการซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือ โดยกดชำระเงินทางออนไลน์เลยล่ะก็ คนไทยเราก็ยังมีพฤติกรรมหลักๆ 2 อย่างที่ต่างจากประเทศ …

ข้อแรก สำหรับสินค้าราคาสูงๆ คนไทยยังนิยมซื้อของจากเว็บที่ยอมให้จ่ายเงินเมื่อได้รับของแล้ว โดยจ่ายกับพนักงานส่งของนั่นเอง หรือไม่ก็ไปรับของและไปจ่ายที่ร้านค้าใกล้ๆ บ้าน โดยไม่ต้องตัดบัตรตัดเงินออนไลน์ สังเกตได้จากเว็บดังๆ เช่น Lazada, Zalora ฯลฯ ต่างใช้ระบบนี้ในไทย

ข้อสอง สำหรับสินค้าเล็กๆ น้อยๆ คนไทยนิยมไปโอนค่าสินค้าที่ตู้เอทีเอ็ม แล้วค่อยถ่ายรูปสลิปแล้วส่งทางแชทหรืออินบ๊อกซ์ให้แม่ค้าพ่อค้าทาง Line, Facebook หรือ Instagram

ซึ่งทั้ง 2 พฤติกรรมนี้ จะมองว่าเป็นอุปสรรคที่อาจยังทำให้ Mobile payment อาจยังแจ้งเกิดในไทยได้แค่ ณ แคชเชียร์ต่างๆ แต่จะยังไม่สามารถโตเปรี้ยงปร้างในหน้าจอโลกออนไลน์

ส่วน Mobile payment อีกอย่างหนึ่ง ที่เรายังไม่พูดถึงในที่นี้ คือการโอนเงินให้กันนั้น หลายฝ่ายมองว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรน่าสนใจ เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ทำผ่านแอพฯ หรือเว็บของธนาคารเองกันอยู่แล้ว อาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็ตรงที่จะมี “PromptPay” ของรัฐบาลไทยเองมาให้ใช้ร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูกันต่อไป

ส่งท้ายด้วยข้อมูลตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าคนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังใช้แค่เงินสด ไม่ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต ในการซื้อของ …ถ้ามองว่าเป็นตัวเลขอุปสรรคของ Mobile payment ก็อาจมองได้ แต่ถ้าพลิกมองอีกมุม ก็หมายถึงว่าตลาดนี้ยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมากเช่นกัน

 

ภาพจาก

payprotec.com/isis-wallet-changes-name-avoid-association-militant-group

 

9to5mac.com/2014/09/09/apple-announces-replacement-for-the-wallet-introduces-apple-pay

 

phandroid.com/2015/10/21/11-things-every-nexus-5x-owner-should-do

 

www.sammobile.com/2016/11/21/launching-a-dedicated-rewards-program-for-samsung-pay-is-an-absolutely-brilliant-move-by-samsung

 

rgpacific.com/resell-to-customers-with-mobile-app-ecommerce

 

www.contus.com/mobile-commerce.php

 

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save