Article

เทรนด์ของเทคโนโลยี Smartphone ที่กำลังจะมาในปี 2018

SMARTPHONE-TRENDS-OF-2018

บทความนี้มาพูดกันเรื่อง เทรนด์ของเทคโนโลยี Smartphone ที่กำลังจะมาในปี 2018 ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหน้าจอไร้ขอบ, เทคโนโลยี AR, เทคโนโลยีของกล้องที่พัฒนาขึ้นอีกขั้น หรือเทคโนโลยี AI อัจฉริยะ

สวัสดีครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกกับความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนแนล) รับชมได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสดเวลา 14:00-15:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ บทความนี้มาพูดกันเรื่อง เทรนด์ของเทคโนโลยี Smartphone ที่กำลังจะมาในปี 2018

Smartphone กับหน้าจอแบบสุดขอบ พาเหรดกันมาแทบหมดทุกระดับราคา

ปัจจุบันหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบมากๆ ในทุกๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา การที่เราเห็นสมาร์โฟนหน้าตาดูเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งก็มาจากหน้าจอของเครื่องนั่นเอง ตั้งแต่ขนาดของจอ ขอบจอที่เล็กลงทำให้โทรศัพท์ดูเล็กลง จอของโค้งด้านข้าง จอแบบสามมิติ จนมาถึงล่าสุด หน้าจอแบบสุดขอบ (Full View Display หรือถ้าทางฝั่ง Samsung ก็มีชื่อเรียกว่า Infinity Display ฝั่ง LG เรียก Full Vision Display ก็แล้วแต่จะตั้งชื่อกันไป)

lg-magazine_q6-full-vision-screen_key-visual

LG G6 full vision

โดยคอนเซปท์คือ ทำให้จอชิดขอบทุกด้านมากที่สุด ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่นเอาปุ่มโฮมด้านหน้าออก ย้ายปุ่มสแกนนิ้วไปด้านหลังแทน จะทำให้เราได้โทรศัพท์จอใหญ่ แต่เครื่องไม่ใหญ่ตามแบบในยุคที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนสัดส่วนของจอไปด้วย จากยุคเริ่มเป็นแบบ 4:3 (ยาว : กว้าง) มาเป็น 16:9 จนล่าสุดด้วยจอแบบสุดขอบจะกลายมาเป็น 18:9 ซึ่งว่าไปแล้วก็ล้อไปกลับสัดส่วนจอแบบโทรทัศน์ยุคใหม่ ซึ่งการออกแบบแบบนี้ จะทำให้หน้าจอมีขนาดกว้างแต่ความยาวจะยาวขึ้น ทำให้ภาพที่ได้เวลาดูพวกภาพยนตร์ ก็จะได้สัดส่วนที่สมจริงมากขึ้น

This slideshow requires JavaScript.

 

ในปี 2018 แนวโน้มของจอแบบนี้ก็จะออกมามากขึ้น หลายรุ่นก็จะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ไปหมด จากปี 2017 ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคาสูงๆ เช่น Samsung Galaxy S8/S8+, Galaxy Note 8 มาปี 2018 เราก็จะได้เห็นรุ่นกลางๆ อย่าง Galaxy A8, A8+ ที่หันมาใช้หน้าจอแบบ Infinity display เช่นกัน หรือแม้แต่รุ่นระดับกลางล่างอย่าง J-Series ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้หน้าจอแบบนั้น อย่าง iPhone X ก็ผันมาใช้จอแบบ Full View เช่นกัน เชื่อว่าในปลายปี 2018 Apple น่าจะมี iPhone รุ่นใหม่ๆ ที่ใช้จอแบบนี้มากรุ่นขึ้น Huawei ก็มีรุ่นอย่าง Nova 2i, Mate 10 Pro ที่ทยอยปรับการออกแบบเหมือนคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน OPPO ก็ออก F5 series มา 3 รุ่น vivo ก็มี V7/V7+ นอกจากนี้ยังมี Wiko Smartphone จากฝรั่งเศส ที่ออก View Series 3 รุ่น ก็หันมาใช้จอแบบนี้เช่นกัน โดยราคาเริ่มต้นเพียง 4,990 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกที่สุดในตลาดขณะนี้เลย เชื่อว่าในปีนี้จะมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกมาอีกมากมายหลายรุ่นที่ใช้จอแบบ 18:9 หรือ Full View Display เป็นทางเลือกอีกมากมาย

 

Smartphone กับกล้องที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น

Huawei Mate 10

Huawei Mate 10

ปัจจุบันเทคโนโลยีของกล้องบนสมาร์ทโฟนนั้นก้าวหน้าไปมากจนหลายๆ คนงงว่าภาพที่เห็นนี่ถ่ายด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเท่าฝ่ามือนี่จริงๆ เหรอ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคแบบ โบเก้ (Bokeh) หรือภาพมุมกว้าง ภาพที่ปรับแสงสีได้อย่างหลายหลาย ราวกับว่าคุณใช้คอมพิวเตอร์ปรับสีปรับแสงในสตูดิโอ ด้วยเทคโนโลยีกล้องคู่ ที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Huawei จับมือกับ Leica, Samsung และ Apple ที่พัฒนากล้องของตัวเอง, Nokia จับมือกับ Zeiss (กำลังจะมีกล้องคู่) Sony กับเทคโนโลยีกล้องของตัวเอง (กำลังจะมีกล้องคู่เช่นกัน) และอีกหลายรายที่มุ่งพัฒนาในเทคโนโลยีกล้อง ต่างก็พยายามพัฒนากล้องให้เหนือคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นด้าน ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เพราะฟังก์ชั่นกล้องเป็นจุดขายพื้นฐานที่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทุกยี่ห้อให้ความสำคัญมากๆ

This slideshow requires JavaScript.

อย่างไรก็แล้วแต่ ราคาขายของเครื่องก็เป็นปัจจัยอยู่ว่าเราจะได้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องดีในระดับใน วันนี้ถ้าจะเอาสมาร์ทโฟนกล้องสวยๆ ก็ต้องมีงบประมาณ 8-9 พันบาทขึ้นไป อย่างเช่น Huawei Nova 2i, Vivo V7, OPPO F5, Samsung Galaxy J7 Pro ถือว่ายังได้ภาพที่สวยสมจริงกัน ขณะที่ทิศทางเทคโนโลยีกล้องในปีหน้า เราอาจจะได้เห็นสมาร์ทโฟนมีกล้อง 3 เลนกันเลยทีเดียว หลังจากที่คาดการณ์ไปแล้วว่าปี 2017 จะมีสมาร์ทโฟนกล้องคู่ทั้งหน้าและหลัง กันไปแล้ว (ซึ่งแน่นอนปี 2018 สมาร์ทโฟนที่มีกล้องคู่หน้าหลังจะออกมาเยอะขึ้น) ถ้าถามว่ากล้อง 3 เลนส์เอาไปทำอะไร ก็คาดว่าจะเป็น กล้องเลนมุมกว้าง (Wide) + กล้องเลนส์มุมแคบ (Tele) + กล้องวัดระยะเก็บข้อมูล หรืออาจะเป็น กล้องเลนส์ขาวดำ + กล้องเลนสี + กล้องซูม ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ภาพถ่ายมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

(ตัวอย่างมือถือ-ai-technology)-huawei_mate_10_pro_re

huawei mate 10 pro

ในขณะที่รูรับแสงของเลนส์นั้นก็น่าจะมีความกว้างยิ่งขึ้น โดยในปี 2017 ที่ผ่านมานั้น Huawei ได้เปิดตัว Mate 10 Pro ที่มีเลนกล้องมีรูรับแสงกว้างถึง F/1.6 เป็นครั้งแรก เป็นไปได้ที่ปี 2018 นี้จะมีสมาร์ทโฟนที่มีรูรับแสงกว้างกว่านี้อีก ซึ่งล่าสุด Samsung ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนฝาพับรุ่น W2018 ที่มีกล้องรูรับแสงระดับ F/1.5 ออกมาแล้ว แต่จำหน่ายเฉพาะในประเทศจีน เป็นไปได้ว่าปี 2018 เราจะเห็นสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถในการถ่ายภาพได้ดีกว่าเดิมไปอีก ด้วยการที่เลนส์มีรูรับแสงกว้างกว่าที่เคยเป็น อาจจะไปถึง F/1.4 กันเลยด้วยซ้ำ (แต่น่าจะเป็นรุ่นไฮเอนด์ที่ราคาสูงมากๆ) ต้องติดตามกันให้ดีครับ

 

Smartphone กับเทคโนโลยี eSIM

ในช่วง 8-10 ปีหลังมานี้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประเภทซิมการ์ดมาสองครั้ง คือตอนที่เปลี่ยนจากซิมการ์ดมาตรฐานที่เราคุ้นเคย หรือ Mini SIM (2FF) เป็น Micro SIM (3FF) ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2003 และกลายเป็น Nano SIM (4FF) ในปี 2012 ที่เริ่มจาก iPhone 5 เป็นต้นมา จนมาถึงปี 2018 eSIM (Embedded SIM, MFF2) กำลังจะมา

จริงๆแล้วมาตรฐาน eSIM ถูกพัฒนากันมาหลายปีแล้ว โดย GSMA (GSM Association) ในปี 2018 นี้คาดว่าจะเริ่มมีอุปกรณ์แบบ Consumer ที่ใช้ eSIM เริ่มได้เห็นในปีนี้ (ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เริ่มทำกันบนพวกอุปกรณ์แบบ M2M หรือ Machine to Machine เช่น อุปกรณ์ Cellular-GSP ติดรถยนต์ เป็นต้น) โดยในปีนี้เราจะได้เห็น Apple Watch Series 3 LTE version เป็นอุปกรณ์แรกที่ใช้ eSIM ซึ่งถือว่าเป็นการปูทางความพร้อมของโอเปอร์เรเตอร์ผู้ให้บริการ (ในต่างประเทศเริ่มแล้วในปี 2017) เนื่องจากว่าการเปลี่ยนจากซิมการ์ดที่เป็นแผ่นๆ และถอดเข้าออกได้เอง มาเป็นแบบ eSIM ที่จะถูกบรรจุอยู่เมนบอร์ดภายในตัวเครื่องเลย ผู้ใช้ไม่สามารถจะนำเข้าออกได้เองอีกต่อไป

โดยระบบของผู้ให้บริการจะเป็นผู้ควบคุมการโปรแกรมเบอร์เข้าไปให้ ซึ่งในสเปคของ eSIM นั้นคุณสามารถใส่ Profile ของ eSIM ได้สูงสุดถึง 5 Profile ด้วยกัน (5 เบอร์) นั่นแปลว่าอีกหน่อยก็ไม่ต้องมีเครื่องแบบ Multi SIM อีกต่อไป และดูจะทำงานได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะผู้ใช้สามารถเพิ่มหรือลบเบอร์ที่ใส่เข้าไปได้เองโดยไปไม่ต้องไปขอซิมการ์ดใหม่จากผู้ให้บริการ แต่ทำได้ง่ายๆ ผ่านมือถือสมาร์ทโฟนของคุณโดยต่อผ่านอินเตอร์เนตทาง Wi-Fi หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนของเมนูที่ส่งผ่านระบบมาให้ผู้ใช้ได้ยืนยันความเป็นตัวตนของตัวเอง เช่น การยืนยันด้วยหมายเลขบัตรประชาชนเป็นต้น เสร็จแล้วผู้ให้บริการก็จะส่งข้อมูล SIM (SIM Profile) มาให้กับมือถือผ่านทางอินเตอร์เนต เพื่อทำการบันทึกใส่ใน eSIM หลังจากนั้นเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นก็จะถือว่ามีเลขหมายของระบบผู้ให้บริการ และระบบก็จะปล่อยสัญญาณให้เครื่องสมาร์ทโฟนนั้น เราก็จะเห็นเครื่องของเรามีสัญญาณขึ้นและใช้งานได้

อย่างไรก็ดี คาดว่าปี 2018 ผู้ให้บริการในบ้านเราทั้งสามรายอย่าง AIS, dtac, True Move H ก็จะมีความพร้อมในการให้บริการระบบ eSIM ได้ภายในไม่เกินไตรมาสที่สามของปี 2018 และน่าจะให้บริการกับ Apple Watch Series 3 LTE Version ที่จะทำงานร่วมกับ Apple iPhone เท่านั้น ซึ่งใครที่ใช้บริการเครื่อง Apple iPhone กับค่ายใดอยู่ก็สามารถซื้อ Apple Watch series 3 LTE Version จากผู้ให้บริการที่คุณใช้บริการอยู่ แล้วเชื่อมต่อผ่านระบบภายการใช้งานบนเลขหมายเดียวกันนั่นเอง แต่ตอนนี้ต้องอดใจรอก่อนนะครับ เพราะ Apple ยังไม่ปล่อยเวอร์ชั่น 4G ออกมาขายในบ้านเราตอนนี้ คาดว่าต้องรอให้ผู้ให้บริการในบ้านเรามีความพร้อมในระบบ eSIM เสียก่อน ถึงจะค่อยขายออกมา (ซื้อตอนนี้ไปก็ใช้ได้แค่โหมด GPS)

ขณะที่แนวโน้มผู้เล่นรายอื่นๆ ก็มีผลิตภัณฑ์ชิมลางออกมาบ้างแล้ว อาทิ Samsung Gear S3 (LTE Version), Google Pixel 2 เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาจำหน่ายในบ้านเรา ทั้งนี้การรีบนำเอามาจำหน่ายก็ไม่มีผลดีแต่อย่างใด ถ้าระบบยังไม่พร้อมมารองรับก็จะใช้ไม่ได้ คาดว่าในปลายปี 2018 ต่อปี 2019 เราอาจจะเริ่มเห็นสมาร์ทโฟนค่ายยักษ์ใหญ่เริ่มทยอยนำเอา Smartphone ที่เป็น Hybrid eSIM (เป็นแบบมีทั้งช่องใส่ Nano SIM และ eSIM ในตัว) ออกมาทดลองทำตลาดกันบ้าง ส่วนตัวคาดว่า Apple น่าจะเริ่ม iPhone ที่มี eSIM ในปี 2019 นู่น เพราะต้องให้แน่ใจก่อนว่าผู้ให้บริการมีความพร้อมอย่างแท้จริงในวงกว้างแล้วถึงค่อยนำผลิตภัณฑ์ออกมาทำตลาด ไม่เช่นนั้นจะยากต่อการจัดการและอาจมีผลกระทบต่อผู้ใช้เลยทีเดียว และในปี 2020 เราน่าจะได้เห็นสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่กลายเป็นแบบ eSIM กันหมด นอกจากนี้เราน่าจะได้เห็นอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) มากมายก็จะถูกออกแบบในแบบที่ใช้ได้กับ eSIM ได้เลย เพื่อทำให้ง่ายและเติบโตได้อย่างรวดเร็วของตลาดอุปกรณ์ประเภท IoT ต่อไป

 

Smartphone กับเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence)

เทคโนโลยี AI หรือ Artificial Intelligence หรือเรียกเป็นไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ได้เป็นที่พูดถึงกันมาหลายปีมากแล้ว แต่ในมุมมองของการนำมาใช้สู่ตลาดผู้ใช้ทั่วไป หรือ Consumer market เพิ่งจะถูกมาพัฒนาอย่างจริงจังกับสินค้าต่างๆ ในบ้านและรอบๆ ตัวเราเมื่อไม่นานนี้เอง ซึ่งการมาของ AI กับสมาร์ทโฟนเราเริ่มเห็นกันแล้วในปี 2017 ไม่ว่าจะเป็น Apple ที่มีหน่วยประมวลผลแบบ Neural Engine ที่ใส่ใน CPU ของ iPhone X บนชิป A11 Bionic เพื่อให้การใช้งานร่วมคิดและคาดเดาพฤติกรรมการใช้งานผู้ใช้เพื่อนำมาซึ่งการให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เร็วกว่า ประหยัดพลังงานกว่า

ขณะที่ค่ายยักษ์จากจีนอย่าง Huawei ก็มีการพัฒนาชิปเซท Kirin 970 ด้วยการใส่หน่วยประมวลผลแบบ AI เข้าไป ที่เรียกว่า NPU (Neural Processing Unit) เพื่อช่วยให้เครื่องคิดแทนและคาดเดาการใช้งานต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปประมวลผลที่ Cloud ให้เสียเวลา ซึ่งก็ถูกนำมาใช้กับ Huawei Mate 10 Pro คาดว่าในปี 2018 Huawei ก็น่าจะบรรจุ CPU ลงไปในสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง P11 ด้วยเช่นกัน

Qualcomm เองก็เปิดตัว CPU Snapdragon 845 ตัวท็อปสุดของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อใช้กับสมาร์ทโฟน โดยมีหน่อยประมวลผลแบบ AI ด้วยเช่นกัน ขณะที่สมาร์ทโฟนจากจีนอย่าง OPPO ก็เปิดตัว OPPO F5 ที่มี AI Beauty Mode ช่วยในการประมวลผลการถ่ายภาพให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น ในปี 2018 เราเชื่อว่าสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่ๆ จะมีการผสมผสานการนำเอา AI Technology ออกมาใช้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อเป็นจุดขายทางการตลาด ในขณะที่สิ่งนี้จะนำมาซึ่งการให้ประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ มากยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้ไม่ต้องไปคิดอะไรให้ซับซ้อนเพื่อที่จะใช้สมาร์ทโฟน แต่สมาร์ทโฟนจะปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายภาพ (กล้องจะปรับโหมดอัตโนมัติตามภาพที่เห็น) การดูแลรักษาเสถียรภาพของเครื่องไม่ให้อืดลงง่ายๆ การจัดการพลังงานให้เครื่องมีอายุการใช้งานกับแบตเตอรี่ได้ยาวนานกว่าเดิม การคาดเดาการใช้เครื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้และทำสิ่งนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องสั่งการที่ซับซ้อนแบบเดิมๆ อีกต่อไป 

 

Smartphone กับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality)

เทคโนโลยี AR – Augmented Reality หรือที่เรียกกันว่า เทคโนโลยีความจริงเสริม มีการพัฒนาคิดค้นกันมาหลายปีแล้ว กับแวดวง IT อาทิเช่นการนำเอามาใช้กับสร้างภาพเสมือนจริงในระยะไกลให้มาปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเรา โดยผ่านทางระบบโฮโรแกรมในการสร้างภาพ หรือการมองเห็นภาพนั้นผ่านทางแว่นที่ออกแบบมาพิเศษ การนำเอา AR มาใช้บนสมาร์ทโฟนนั้น ย่อมทำให้เทคโนโลยีมีการแพร่หลายมากยิ่งขึ้นกว่าการใช้อยู่กับคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีจำนวนมากกว่าจำนวนคอมพิวเตอร์หลายเท่าตัวนัก ประกอบกับผู้ใช้ส่วนใหญ่หันมาใช้สมาร์ทโฟนกันหมดแล้วทั้งสิ้นทำให้การคิดการคำนวณทางด้านเทคโนโลยี AR บนสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องง่ายขึ้นในการสร้างประสบการณ์เหล่านี้ โดยเทคโนโลยี AR นั้นจะทำให้เครื่องสมาร์ทโฟนของคุณ ทำการวิเคราะห์ภาพผ่านทางกล้องที่จับภาพนั้นๆ ก่อนที่จะทำการวางตำแหน่งของภาพความจริงเสริมลงไป

จากนั้นก็อยู่ที่โปรแกรมว่าจะคำนวณการสร้างภาพแบบ 3 มิติ หรือ 2 มิติ ลงไปในตำแหน่งที่เครื่องมองเห็นภาพกล้องของสมาร์ทโฟน จนเกิดภาพเสมือนจริงบนหน้าจอ และก่อให้เกิดประสบการณ์ต่างๆ ที่ต้องการ หรือแม้แต่เอาไปใช้ในกับเกมอย่างที่ตอนนี้ iPhone 8, iPhone X ทำได้ คาดว่าในปี 2018 จะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบ AR ออกมาอีกมากเพื่อให้ผู้ใช้ได้สามารถสัมผัสประสบการณ์ต่อบริการ หรือสินค้า ที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการให้ลูกค้าหรือสมาชิกของตนได้เข้าถึงได้ดีกว่า ง่ายกว่า และรู้สึกได้มากกว่าเดิม ในบ้านเราก็มีการนำเอา AR มาใช้เยอะขึ้นมากโดยผ่านทางสมาร์ทโฟน อาทิเช่น แอพฯของ IKEA ที่ช่วยให้เราได้เห็นว่าสินค้าหรือเฟอร์นิเจอร์ตัวที่เราต้องการ ถ้าว่างไปในห้องนอนของเราแล้วมันจะออกมาเป็นอย่างไร เหมาะสมกันไหม, แอพฯ Thairath AR ของไทยรัฐที่ช่วยให้เราได้เห็นภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กลายเป็นภาพสามมิติ ที่มีมุมมองกว้างกว่าเดิม มีวิดีโอให้เราได้เห็นแบบเสมือนจริง ซึ่งให้ประสบการณ์ที่เพิ่มเติมกว่าภาพแบบสองมิติบนหนังสือพิมพ์

 

Smartphone ปลอดภัยด้วยระบบ Biometric ที่ก้าวหน้ามากขึ้น

ความปลอดภัยในเรื่องการป้องกันการเข้าถึงสมาร์ทโฟนของบุคคลเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของเรา (ภาพ วิดีโอ อีเมล์ บันทึกต่างๆ) แต่หมายถึงการป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพขโมยเครื่องเราไปขายได้อีกด้วย แนะนำว่าผู้ใช้ทุกคนควรใช้ระบบการล็อคเครื่องที่มากับเครื่องสักอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ระบบ รหัส 4 ตัว รหัส 6 ตัว แบบ Pattern ที่ขีดเขียนเส้นผ่านจุด ระบบการสแกนนิ้วเพื่อปลดล็อค การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อค การสแกนม่านตาเพื่อปลดล็อค สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์กับผู้ใช้ทั้งสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาหยิบฉวย เอาข้อมูลของเราไป หรือเข้าถึงข้อมูลของเราได้ หรือแม้แต่คิดที่จะขโมยเอาไปขาย ถ้าปลดล็อครหัสเราไม่ได้ ก็ไม่สามารถเอาข้อมูลเราไปได้ หรือแม้แต่จะรีเซ็ทให้กลายเป็นเครื่องเปล่าเพื่อไปขายต่อ ก็จะหมดหนทาง

ล่าสุดเทคโนโลยีการสแกนด้วยใบหน้าของ Apple ที่เรียกว่า Face ID ก็เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง หรือการสแกนม่านตาซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Samsung ก็ถือว่ายากมากที่จะปลดล็อคได้ อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่จะเห็นในปีหน้าก็คือ การสแกนลายนิ้วมือถือผ่านทางหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสิ่งที่รอกันมานาน แบบที่เราเห็นในนิยายวิทยาศาสตร์สุดล้ำ จะมาเป็นจริงแล้วในปี 2018 นี้ โดยการพัฒนาของ Qualcomm ผู้นำด้านการพัฒนา CPU สมาร์ทโฟน ที่ได้เปิดตัวไปแล้วในปีก่อนว่า Qualcomm ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสแกนนิ้วผ่านหน้าจอภาพ ได้สำเร็จแล้ว และจะมีการเปิดตัวในต้นปี 2018 กับ vivo Smartphone

แต่เชื่อได้ว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอื่นๆ ก็น่าจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ตามมาในปีนี้เช่นกัน และจะทำให้ประสบการณ์การใช้งานในการปลดล็อคสะดวกง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยที่ยากต่อการเจาะอีกด้วย เพื่อให้ผู้ใช้ได้อุ่นใจในเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อผู้ใช้ได้เชื่อมั่นและมั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ได้เลือกสรรแล้ว

 

สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ Techoffside ถ้าจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ

 

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save