Article

ใช้สมาร์ทโฟนทำ Facebook Live อย่างไร ให้โดนใจแฟนๆ by Gogolico

ตอนนี้กระแสเกี่ยวกับการ LIVE หรือถ่ายทอดสดผ่านสมาร์ทโฟน ให้เพื่อนๆ หรือผู้ที่ติดตามรับชมกันได้ผ่านทาง Facebook LIVE ยังคงแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น

             ตอนนี้กระแสเกี่ยวกับการ LIVE หรือถ่ายทอดสดผ่านสมาร์ทโฟน ให้เพื่อนๆ หรือผู้ที่ติดตามรับชมกันได้ผ่านทาง Facebook Live ยังคงแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่รายการทีวีหลายๆ รายการยังฉายผ่านทาง Facebook ให้แฟนๆ ได้รับชมกันอีกด้วย

            ถึงแม้ว่าการ LIVE จะทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้า Facebook แล้วก็กดเลือก LIVE ตั้งหัวข้อแล้วก็กดถ่ายทอดสดได้เลย แต่การที่เราจะ LIVE แล้วให้มีคนสนใจเข้ามาชมนั้นมีเรื่องที่ต้องคิดและต้องเตรียมตัวกันให้ดีอีกด้วย วันนี้เราจึงจะมาบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการทำ LIVE ให้ออกมาให้ถูกใจผู้ติดตามของคุณ มีทั้งกลวิธีตั้งแต่เตรียมตัว, จัดอุปกรณ์ และสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการ LIVE งานนี้ได้เวลาเทิร์นโปร ฝึกฝีมือเพื่อให้คุณ LIVE กันสนุกให้ดังสนั่นโซเชียลกันไปเลย!

หัวข้ออะไรบ้างที่น่าเอามาทำ Facebook Live

            นี่คือสิ่งแรกและสำคัญที่สุดในการที่จะทำ Live เพราะถ้าหากว่าคุณไม่ได้เป็นดาราดัง หรือป็อปปูล่าเป็นเน็ตไอดอลที่มีคนตามเป็นหมื่นเป็นแสนอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องมานั่งแคร์ว่า เอ…แล้วฉันจะ Live เรื่องอะไรดี ดังนั้นเรามาตั้งต้นกันตั้งแต่เรื่องของหัวข้อที่น่าสนใจในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์กันก่อนเลยเป็นอันดับแรก

เล่นสด โชว์สด

            ถ้าคุณมีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง เล่นดนตรี หรือโชว์ที่น่าสนใจ คุณสามารถใช้ Live ในการเผยแพร่ให้คนติดตามดูกันได้แบบสดๆ ซึ่งจะได้อารมณ์ที่ต่างจากการอัดเป็นคลิปแล้วเผยแพร่ เพราะระหว่างที่เล่นสดเราสามารถโต้ตอบกับคนที่เข้ามาดูได้ตลอดเวลา

          

สาธิตหรือให้ความรู้ที่เราเชี่ยวชาญ

            ถ้าเรามีดีหรือถนัดอะไรเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามสำหรับคนที่สนใจเรื่องเดียวกับเรา ไม่ว่าจะเป็น ทำอาหาร, สอนเล่นดนตรี, รีวิวสินค้า, รีวิวเกม, พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ หรือว่าเล่าเรื่องผี สิ่งเหล่านี่จะดึงดูดคนที่สนใจเหมือนกันกับเราเข้ามารับชม

เรื่องเด่นประเด็นร้อน

            ทุกวันนี้มีประเด็นเดือด เรื่องดราม่ามากมายเกิดขึ้นได้แทบทุกวัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหัวข้อในการทำ Live เพื่อพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนที่มารับชมได้ แต่การเล่นเรื่องร้อนบางครั้งก็ต้องระวังเรื่องการแสดงความเห็นส่วนตัวที่อาจจะมีผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาได้

ร่วมเหตุการณ์ไปด้วยกัน

            อย่างเช่น ถ่ายทอดสดบรรยากาศในคอนเสิร์ตที่คุณกำลังดู, ละครเวที, งานแสดงโชว์ หรือว่าพาเดินเที่ยวงาน Expo ที่น่าสนใจ แต่แนะนำว่าเป็นการถ่ายทอดเพื่อให้ได้รับบรรยากาศร่วม และระมัดระวังในเรื่องของการละเมิดสิทธิของโชว์ที่คุณกำลังชมอยู่

 

ตามติดเบื้องหลังแบบ Unseen

            เป็นอีกรูปแบบที่น่าสนใจ กรณีที่คุณได้ไปอยู่ในเหตุการณ์เบื้องหลังการทำงานต่างๆ อาทิ การถ่ายทำภาพยนตร์, การเตรียมงานคอนเสิร์ตหรือ event ฯลฯ การพาชมบรรยากาศเบื้องหลังก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้ แต่การถ่ายเบื้องหลังนั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้รับผิดชอบกิจกรรมนั้นๆ ก่อนว่าสามารถเผยแพร่ได้หรือไม่

 

 

 

พูดคุยสัมภาษณ์

เพราะว่าการ Live ไม่จำเป็นว่าจะต้องจัดแค่คนเดียว รายการเราสามารถทำเป็นรูปแบบของการสัมภาษณ์ ที่มีผู้ร่วมพูดคุยกันได้หลายๆ คน โดยเลือกหัวข้อที่น่าสนใจ และผู้ทีมาร่วมพูดคุยมีความรู้และเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ การพูดคุยรับส่งในระหว่างจัดรายการก็เป็นบรรยากาศที่สนุกแต่อีกสิ่งที่เราขอแนะนำเลย ให้คุณทำ Live ผ่านแฟนเพจ ดีกว่าผ่านบัญชีส่วนตัว หรือว่าถ้าจะใช้เป็นบัญชีส่วนตัวก็ต้องเปิดให้เป็น Public เพราะไม่อย่างนั้นนอกจากเพื่อนของคุณแล้วก็จะไม่มีใครเข้ามาดูได้ การ Live ผ่านแฟนเพจจะดีกว่าถ้าต้องการให้มีคนเข้ามาดูสดๆ กับเรื่องที่เรานำเสนอเป็นจำนวนมาก เพราะมีโอกาสเพิ่มคนกด Like เพจของเราเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากว่าเรื่องที่อยาก Live นั้นอยากจะให้เป็นส่วนตัวเฉพาะกลุ่มเพื่อน หรือระบุเฉพาะบุคคลที่ต้องการก็ให้ใช้เป็นบัญชีส่วนตัวแทน

           

 

เตรียมตัวให้พร้อม !

            เมื่อคิดหัวข้อที่จะ LIVE กันได้ แล้วมองหารูปแบบการทำรายการได้แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของอุปกรณ์กันบ้าง อันที่จริงแล้วการทำ Facebook Live นั้นเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ทำได้แล้ว แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงและเตรียมให้พร้อม รวมถึงว่าถ้าอยากจะได้รูปแบบการ LIVE ออกมาดูมืออาชีพก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มาเสริมให้การถ่ายทำสมบูรณ์มากขึ้น

สัญญาณอินเทอร์เน็ตต้องดี

            สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำ LIVE ที่ต้องคำนึงเป็นอย่างแรกเลยก็คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต เพราะถ้าเจอเน็ตกากเข้าไป ต่อให้มีอุปกรณ์ดีกล้องชัดแค่ไหนก็ทำ LIVE ไม่ได้ ดังนั้นถ้าหาก LIVE ในพื้นที่และมีสัญญาณ Wi-Fi จะเป็นการดีที่สุด และตัวสัญญาณเน็ต Wi-Fi ก็ต้องเร็วด้วยนะ แนะนำความเร็วในการอัพโหลดสำคัญที่สุด ควรมีความเร็วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 Mb จึงจะได้ภาพและเสียงที่คมชัด

            ส่วนถ้าต้อง LIVE นอกสถานที่ก็ต้องพึ่งสัญญาณ 4G ที่ต้องเช็คสัญญาณกันให้ดีว่าบริเวณที่จะ LIVE นั้นเสาสัญญาณแรงเพียงพอหรือไม่ และมีปริมาณคนหนาแน่นหรือเปล่า และอีกสิ่งสำคัญคือแพ็คเก็จอินเตอร์เน็ต 4G ที่ใช้นั้นต้องเร็วและมีเพียงพอสำหรับการ LIVE ให้คำนวนง่ายๆ การทำ Facebook Live เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะใช้ปริมาณดาต้าประมาณ 1 GB ดังนั้นเช็คแพ็คเกจเนตเอาไว้ให้ดี หากติด FUP ขึ้นมานี่คือจบกัน

ปิดการแจ้งเตือนและอย่าให้มีใครโทรเข้า

            เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวัง เพราะถ้าหากเวลาที่เรากำลัง LIVE แล้วมีสายเข้าก็จะทำให้สัญญาณการถ่ายทอดสดของเราถูกตัดลงทันที ดังนั้นถ้าเวลา LIVE ผ่าน 4G ควรจะใช้เบอร์ที่ไม่ค่อยมีใครโทรเข้าจะดีกว่า ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนนั้นแนะนำให้ปิด เพราะว่าอาจจะมีเสียงหรือหน้าจอ Notification เข้ามาก่อกวนระหว่างที่ LIVE

แบตเตอรี่ต้องเต็ม พร้อมเตรียมสำรอง

            เนื่องด้วยเวลาในการทำ LIVE แต่ละครั้งใช้เวลานาน ตัวเครื่องก็ใช้พลังงานมาทั้งตัวเครื่องและกล้องต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าหากแบตเตอรี่มีเตรียมไว้ไม่เพียงพอก็อาจจะต้องหยุดการ LIVE กลางคันได้ ทางป้องกันก็คือชาร์จแบตมาให้เต็มๆ หรือไม่ก็พก Power Bank มาค่อยเสียบชาร์จระหว่างที่ LIVE ไปด้วย

ข้อแนะนำในการจัดสถานที่ถ่ายทำ

 

มุมกล้องที่สบายตา

            หลักการในการตั้งกล้อง LIVE ที่ดีที่สุดคือ ตั้งให้กล้องอยู่ในระดับสายตาเท่าๆ กับมนุษย์ทั่วไปเพราะว่ากล้องนั้นเปรียบแทนสายตาของคนที่กำลังรับชมอยู่ สมมติว่าเรา LIVE โดยตั้งกล้องเอาไว้ที่โต๊ะอาหารแล้วเงยขึ้นมาเห็นหน้าเรา ความรู้สึกของคนดูจะเหมือนว่า เขาเป็นอาหารที่วางอยู่บนโต๊ะแล้วเรากำลังจะกินเขา ควรตั้งให้อยู่ในระดับเดียวกับสายตาผู้ที่ดำเนินการ LIVE หรือสูงกว่าเล็กน้อย

            มุมกล้องในกรณีตั้งกล้องไว้อยู่กับที่ เมื่อเราใส่เลนส์ Wide แล้วก็จะทำให้เก็บภาพได้กว้างมากขึ้น ถ้ามีคนหลายคนในกล้องก็ให้เฉลี่ยตำแหน่งคนในกล้องให้สมดุลกับฉาก แต่ถ้าเป็นการถ่ายแบบกล้องนอกสถานที่แล้วเดิน อันนี้ต้องคอยดูให้กล้องโฟกัสในจุดที่สนใจระหว่างที่พูดอย่างเหมาะสมด้วย

จัดฉากจัดแสงให้ดี

            เรื่องของแสงนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าในกรณีที่คุณตั้ง LIVE กลางแจ้งหรือนอกสถานที่ ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องภาพมืด แต่ก็ต้องคำนึงส่วนของทิศทางของแสงว่าไม่ย้อนแสง เพราะกล้องสมาร์ทโฟนเวลาถ่ายวิดีโอนั้นไม่สามารถทำ HDR ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมาค่อยนั่งล็อค AE (Auto Exposer) ไว้ตลอดเวลา

            แต่ถ้าเป็นการจัด LIVE ในอาคาร ควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเรื่องแสงในห้องให้มีความสว่างที่เหมาะสม และควรหาไฟเสริมมาช่วยส่องด้านหน้าหาตัวของเราด้วยอีกอย่างน้อย 1-2 ดวง เพื่อให้หน้าสว่าง ไม่มืด รวมถึงเป็นการลด Noise ที่จะเกิดขึ้นในภาพได้ แต่แสงก็ต้องจัดอย่าให้เข้มเกินเพราะจะทำให้เราเองแสบตา หรือสว่างเกินก็อาจจะขาวโพลนจนคิ้วหายไปเลย

            และในการ LIVE ในห้อง ก็ควรที่จะจัดเรื่องสถานที่ให้เรียบร้อย โอเค อาจจะดิบๆ เป็นบ้านธรรมดาก็ได้ แต่การที่ฉากหลังของคนที่พูดเรียบร้อยสะอาดตา หรือจัดอย่างเป็นระเบียบ ก็ย่อมดูดีกว่าห้องรกๆ หรือผนังด้านหลังที่มีข้าวของเต็มไปหมด และคอยดึงดูดความสนใจของผู้ชมมากกว่าสนใจฟังหรือชมสิ่งที่เรากำลัง LIVE

อุปกรณ์ต้องครบ!

 

หาเลนส์ Wide มาสวมกล้องให้ได้ภาพที่กว้าง

            ถ้าหากใช้กล้องหน้าในการถ่ายทำ Live ก็อาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องมุมภาพเพราะส่วนใหญ่กล้องหน้าจะใช้เป็นเลนส์ Wide ที่เก็บภาพได้มุมกว่า แต่ก็จะติดเรื่องความละเอียดของภาพและการจับโฟกัส ส่วนกล้องหลังที่ความละเอียดดีกว่าก็จะเป็นแบบเก็บภาพได้ในมุมแคบ ถ้าจะเก็บภาพกว้างก็ต้องตั้งไว้ไกลๆ ซึ่งจะไม่ค่อยสะดวก ดังนั้นจึงควรมีอุปกรณ์เสริมมาช่วยตรงนี้ นั่นก็คือ เลนส์แบบ Wide ที่เราอาจจะเคยเห็นกันที่เป็นแบบคลิปมาหนีบกับตัวเครื่อง นั่นล่ะจะช่วยให้คุณตั้งกล้องถ่าย LIVE ด้วยกล้องหลัง แล้วเก็บภาพในมุมกว้างๆ ได้สบาย หาซื้อได้ไม่ยากตามร้านขายอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนทั่วไป ราคาตั้งแต่ 500-1000 บาท แนะนำเวลาซื้อให้ไปลองเสียบใข้ดูก่อนว่าเหมาะกับสมาร์ทโฟนรุ่นที่เราใช้อยู่หรือไม่

 

ใช้ไมโครโฟนเพื่อช่วยให้เสียงที่ดีขึ้น

            การ LIVE ด้วยสมาร์ทโฟนนั้น พื้นฐานเลยจะใช้ไมค์ของตัวมือถือเลยก็ได้ แต่เสียงนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของมือถือที่เราใช้ รวมไปถึงสถานที่ที่เราทำ LIVE ถ้าหากเป็นห้องปิดที่เงียบก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าเป็นสถานที่ๆ มีเสียงรบกวนรอบข้างก็อาจจะมีปัญหาทำให้คนที่รับชม LIVE ได้ยินเสียงของเราได้ไม่ชัดเจน ดังนั้นการใช้ไมโครโฟนเข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงและใส่ใจ เพราะเสียงในการ LIVE เป็นสิ่งที่คนติดตามชมต้องการให้ชัดเจนมากที่สุด (บางครั้งให้ความสำคัญกับเสียงมากกว่าภาพเสียอีก)

            ไมโครโฟนที่จะเอามาใช้กับสมาร์ทโฟนนั้น ถ้าแบบไม่ลงทุนเลย คุณสามารถใช้หูฟังสมอลล์ทอล์คที่แถมมาในกล้องใช้เป็นไมค์พูดเลยก็ได้ แต่คุณภาพนั้นก็ยังถือว่าไม่ได้ดีมากสักเท่าไหร่ แถมระยะสายไมค์ก็สั้น จะพอเอาไว้ใช้ LIVE แบบไม่ต้องเห็นหน้าพิธีกร เพราะเราจะเป็นคนถือกล้องและพูดอยู่ด้านหลังกล้อง

            ดังนั้นแนะนำไมโครโฟนที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนเลยว่า ไมโครโฟนแบบขนาด 35 มิลลิเมตรนั้นมี 2 ประเภทคือ สำหรับใช้งานกับกล้อง และใช้งานกับสมาร์ทโฟน ซึ่งจะมีจุดสังเกตได้ที่ตัวแจ็คเสียบของไมค์ ถ้าเป็นไมค์สำหรับกล้อง จะมีขีดเส้นที่แจ๊คจะมี 2 เส้น ส่วนไมค์ที่ใช้งานกับสมาร์ทโฟนได้จะมี 3 เส้น

            ประเภทของไมค์ที่แนะนำให้ใช้สำหรับทำ Facebook LIVE สมาร์ทโฟน ให้เลือกเป็นแบบลาวาเลีย (Lavalier) ลักษณะจะเป็นไมค์สายที่มีหัวไมค์เป็นจุกเล็กๆ พร้อมมีฟองน้ำครอบเพื่อซับเสียง ไมค์แบบนี้มีจุดเด่นก็คือเก็บเสียงพูดในระยะใกล้ได้ดี และตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ โดยเวลาที่ใช้ให้นำมาเหน็บที่ปกเสื้อ หรือจะทำเป็นไมค์ถือด้วยการเสียบกับไม้ก็ได้ มีหลายรุ่นหลายแบบหลายราคาให้เลือก แตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพและแบรนด์ จากที่ลองใช้มาหลายตัวมีแนะนำ 2 รุ่นคือ BOYA M1 ที่ราคาค่อนข้างถูก ประมาณ 700-900 บาท สายยาวถึง 6 เมตร แถมยังเลือกสลับโหมดใช้งานได้ทั้งกับสมาร์ทโฟนและกล้องภายในตัวเดียว ส่วนอีกรุ่นเป็นของ Saramonic รุ่น SR-LMX1 ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ คุณภาพเสียงที่ได้อยู่ในระดับที่ดีในราคา 1,500-2,000 บาท

            หรือว่าถ้าจะไม่เน้นเรื่องเสียงพูดแต่อยากจะเก็บเสียงบรรยากาศรอบด้านเป็นสำคัญ อย่างเช่น งานคอนเสิร์ตบนเวที, งานสัมมนา ฯลฯ แนะนำให้เลือกใช้ไมค์แบบ Condenser จะดีกว่าแบบลาวาเลีย รุ่นที่เราแนะนำจะเป็น Saramonic i-Mic ที่มีขนาดเล็กมากๆ ทำให้ใช้งานได้สะดวก แถมยังบิดหมุนเพื่อปรับทิศทางการรับเสียงได้ด้วย ในราคาประมาณ 1,000 บาทต้นๆ

หา Mixer มาใช้ถ้าต้อง LIVE แล้วมีคนพูดมากกว่า 1 คน

            ถ้าการ LIVE ของคุณให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของเสียงมากๆ บางทีแค่ไมโครโฟนอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เพราะว่าแหล่งที่มาของเสียงนั้นอาจจะมีมากกว่า 1 จุด อย่างเช่น การสัมภาษณ์หรือนั่งพูดคุยที่มีมากกว่า 1 คน นั่นแปลว่าเราควรจะต้องมีไมค์อย่างน้อย 2 ตัว เพราะว่าการจะยื่นไมค์ไปมานั้นก็ดูน่ารำคาญในเวลาที่ถ่ายทอดสด แต่การจะเสียบไมค์ 2 ตัวเข้าสมาร์ทโฟนนั้นมันทำไม่ได้ เราจะต้องทำการเสียบไมค์เข้ากับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Mixer เสียก่อน

            การทำงานของ Mixer ก็คือสามารถรับสัญญาณเสียงจากหลายๆ แหล่งเอาเข้ามารวมให้กลายเป็นช่องสัญญาณเดียวให้เรียบร้อย จากนั้นก็ค่อยส่งไปยังปลายทาง ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานด้านเสียง ที่ปัจจุบันมีการออกแบบรุ่นที่มีขนาดเล็กและพกพาง่ายออกมาเพื่อให้ใช้งานในการทำ Facebook Live ได้สะดวกมากกว่าเดิม ว่าแล้วเราจะเอามาแนะนำ 2 รุ่นด้วยกัน

            ตัวแรกเป็น Saramonic LavMic มีขนาดที่เล็กมาก โดยเราสามารถเสียบไมค์ได้ 2 ตัวเพื่อเอามารวมเสียงให้กลายเป็นช่องเดียว โดยเลือกได้ว่าจะให้เป็นเสียงแยกซ้าย-ขวา สเตอริโอ หรือจะรวมเป็นโมโนก็ได้ และนอกจากใช้งานกับสมาร์ทโฟนแล้ว ยังใช้ร่วมกับกล้องแบบ DSLR หรือว่ากล้อง GoPro ก็ยังได้ ถือว่าค่อนข้างสารพัดประโยชน์ในขนาดเล็กเหน็บกระเป๋าพกพาได้ ราคาอยู่ราวๆ 3,500-4,000 บาท

            ส่วนอีกตัวต้องเรียกว่าจัดชุดใหญ่ไฟกระพริบสำหรับการทำ LIVE ที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุดในระดับอุปกรณ์พกพา คือ Saramonic SmartMixer ที่ในชุดนอกจากจะมีตัว Mixer ที่รับสัญญาณเสียงได้ 2 ช่องจากไมค์ 2 ตัว (ในชุดมีแถมไมค์ Condenser แบบรุ่น i-Mic มาให้ด้วย 2 ตัว) ตัวเครื่องมีจอบอกระดับเสียงจาก Channel ซ้ายขวา ให้คุณต่อสายออกไปเสียบกับสมาร์ทโฟนเพื่อทำ LIVE ได้เลย (มีสายเลือกเปลี่ยนได้ทั้งใช้กับสมาร์ทโฟนและกับกล้อง) นอกจากนี้ในชุดยังมีตัวขาหนีบสมาร์ทโฟนพร้อมด้ามจับ เพื่อเอามาประกอบร่างเป็นไม้ถือเดินได้อย่างสะดวกสบายที่สุด หรือจะเอาไปเสียบติดกับขาตั้งกล้องก็ทำได้เช่นกัน ส่วนราคานั้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท

            สำหรับระบบเสียงนั้น ถ้าคุณต้องการคุณภาพสูงกว่านี้ก็ยังมีตัวเลือกอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไมค์ลอยแบบไร้สาย หรือตัวมิกเซอร์ที่เสียบเข้าได้หลายช่องเสียง แต่ถ้าสำหรับการทำ Facebook LIVE นั้น อุปกรณ์เหล่านี้ถือว่าเพียงพอจนเกือบเหลือใช้ และได้คุณภาพเสียงที่ดีในการถ่ายทอดสดแล้ว

ถ้าต้องมีการเดิน หาอุปกรณ์กันสั่น (Stabilizer) มาช่วย 

            การทำ Facebook LIVE ถ้าทำในห้องหรือในพื้นที่ ก็ไม่อะไรมาก เพียงแค่หาขาตั้งกล้องกับอุปกรณ์ยึดตัวสมาร์ทโฟนเข้ากับขาตั้งกล้องก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าคุณต้องการทำ LIVE แบบที่ต้องเดินไปมา อย่างเช่น พาเดินเที่ยวงาน, ชมบรรยากาศสถานที่ท่องเที่ยว หรือว่าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายกล้องไปยังที่ต่างๆ ระหว่างที่ LIVE การหยิบมือถือแล้วเดิน การถือเฉยๆ แล้วเดินนั้น ต่อให้ตัวสมาร์ทโฟนเรามี OIS ช่วยลดการสั่นไหวของภาพ ก็ไม่อาจจะช่วยให้ภาพนิ่งได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เสริมอีกอย่างเพิ่มขึ้นมาที่เรียกว่า Stabilizer

            หลักการทำงานของมันคืออุปกรณ์จับยึดตัวมือถือของเราไว้ โดยจะมีมอเตอร์ 3 ตัวคอยรักษาสมดุลของกล้องให้นิ่งอยู่กับที่แม้ว่าเราจะเคลื่อนไหว ผลที่ได้ก็คือภาพเวลาถ่าย LIVE แล้วเดินไปภาพจะนิ่งเหมือนกับตั้งขาตั้งกล้องตลอดเวลา สำหรับอุปกรณ์ประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูงพอสมควร คืออยู่ราวๆ ตั้งแต่ 8,000-9,000 บาท ไปจนถึง 10,000 บาทขึ้นไป

            ตัวที่แนะนำให้ใช้สำหรับการทำ LIVE จะเป็น DJI OSMO Mobile ที่ตัวอุปกรณ์ออกแบบมาเพื่อใช้กับโทรศัพท์ได้ใหญ่สุดถึงขนาด 5.5 นิ้ว (iPhone 7 Plus ยังใส่ได้) ตัวด้ามจับถือได้ถนัดมือ แบตเตอรี่ใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 4 ชั่วโมง นอกจากจะช่วยเรื่องลดการสั่นไหวของภาพแล้ว ยังมีแอพฯ DJI GO ที่มีฟีเจอร์ดีๆ ในการทำ LIVE อย่างเช่นตั้งกล้องไว้แล้วให้ล็อคตำแหน่งใบหน้าของคนพูด เวลาเดินไปมามันจะแพนกล้องตามหน้าของเราให้อัตโนมัติด้วย แต่ตัวนี้จะมีข้อเสียอยู่อย่างคือถ้าใช้กับ iPhone 7 และ 7 Plus จะไม่สามารถเสียบไมค์ได้ เพราะช่อง Lightning ถูกตัวมอเตอร์ขาจับบังเอาไว้

           อีกตัวที่แนะนำจะเป็น Zhiyun Smooth II ที่ตัวนี้จะมีขนาดเล็กกว่า OSMO Mobile ใช้งานค่อนข้างง่าย เชื่อมต่อกับตัวสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ รองรับขนาดสมาร์ทโฟนได้ถึง 5.7 นิ้ว (Galaxy Note ยังใส่ได้) ในการใช้งานไม่มีฟีเจอร์แอพพลิเคชั่นอะไรมากมาย แต่มีข้อดีตรงที่เลื่อนปรับระดับตัวเครื่องที่ตัวหนีบได้ เวลาใช้กับ iPhone 7 จึงหลบให้เสียบไมค์กับช่อง Lighting ได้

ทดสอบทุกอย่างให้พร้อมก่อนจะเริ่ม Live จริง

            คราวนี้หลังจากที่มีอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ อีกสิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดก็คือ ทำการทดสอบอุปกรณ์ทุกอย่างก่อนทำการ LIVE จริงทุกครั้ง เพื่อเช็คว่าจะไม่มีความผิดพลาดในตอนเริ่ม LIVE หรือระหว่างทำการ LIVE

 

สู่ภาคปฎิบัติ ได้เวลาถ่ายทอดสดแล้ว

            เนื้อหาพร้อม อุปกรณ์พร้อม เอาล่ะ! ทีนี้ก็ได้เวลาที่จะกดถ่ายทอดสดจาก Facebook กันแล้ว จริงๆ แล้วการถ่ายทอดสดนั้นจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกกันอยู่นาน กว่าที่แต่ละคนจะเริ่มเชี่ยวชาญ หรือรู้จังหวะการพูด มุมกล้อง หรือการโต้ตอบกับผู้ชม แต่เราจะมาสรุปเรื่องเบื้องต้นที่ควรรู้ให้ทราบกันก่อน แล้วจากนั้นคุณก็ไปหาเอาจากประสบการณ์ตรงเอาเองได้เลย

แจ้งล่วงหน้าบอกแฟนๆ และผู้ติดตามว่าจะมีถ่ายทอดสด

            แนะนำให้โพสต์แจ้งลูกเพจหรือผู้ที่ติดตามผ่านทางหน้าวอลล์ก่อนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าเราจะมีการ Live เกี่ยวกับเรื่องอะไร และช่วงเวลาใด เป็นการสร้างกระแสให้คนที่ติดตามสนใจและรอชมการถ่ายทอดสดของเรา ไม่แนะนำให้ทำในลักษณะแบบอยากจะ Live ก็กดถ่ายทันที เพราะจะทำให้มีคนติดตามได้น้อย

เขียน Description โดนๆ ให้น่าสนใจ

            ก่อนจะเริ่มทำการถ่ายทอดสด เราสามารถตั้งคำอธิบาย (Description) สั้นๆ ได้ ให้ใช้ส่วนนี้เขียนอธิบายสิ่งที่จะพูด และชักจูงเชื้อเชิญให้ลูกเพจสนใจ เพื่อที่เวลาใครมาเห็นข้อความระหว่างที่ทำการ Live อยู่จะได้สนใจและกดเข้ามาชมเพิ่มเติมได้ รวมไปถึงใส่ Hashtag ที่น่าสนใจ ก็ช่วยให้คนเห็นการ LIVE ของเราได้มากขึ้น

พูดคุยทักทายกับคนดู และอ่านคอมเมนท์ระหว่าง LIVE

            เป็นการปฎิสัมพันธ์กับลูกเพจที่ได้ผลมาก ระหว่างที่ทำการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live นั้น ผู้ที่รับชมสามารถพิมพ์ข้อความเข้ามาได้ แนะนำว่าให้ทำการพูดคุยทักทายกับคนที่โพสต์คอมเมนท์โดยเรียกชื่อของคนนั้นออกอากาศสดๆ  และโต้ตอบกับผู้ชม เป็นการทำให้ผู้ที่มาชมสดของเรานั้นรู้สึกเป็นกันเองและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

อ้อนลูกเพจให้กด Share และ Subscribe

            ระหว่างที่ทำการ Live นั้น อย่าลืมที่จะบอกให้ผู้ที่รับชมกดปุ่ม Follow เพื่อที่ว่าจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อทางเพจทำการถ่ายทอดสดครั้งต่อไป

ยิ่งถ่ายทอดสดยาวๆ ยิ่งมีคนดูเยอะ

            ข้อดีของการถ่ายทอดสดเป็นเวลานานก็คือ เพิ่มโอกาสที่จะมีคนเห็นการถ่ายทอดของเรามากขึ้น และให้เวลาลูกเพจได้แชร์และชวนเพื่อนๆ มาชมกันมากขึ้น สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำให้ทำการถ่ายทอดสดนั้น ขั้นต่ำอยู่ที่ 10 นาที ส่วนช่วงเวลาในการ LIVE ที่ดีที่สุดอยู่ที่ 30-60 นาที แต่ก็อย่าลืมว่าการ Live นานๆ ตัวเนื้อหาและการดำเนินรายการก็ต้องมีความน่าสนใจด้วย เพราะไม่อย่างนั้นลากยาวไปก็อาจจะไม่มีใครทนนั่งดูไปกับคุณก็ได้

อย่าลืมอำลาผู้ชมเมื่อจะจบการถ่ายทอดสด

            ห้ามลืมเด็ดขาดในการทำ Live เมื่อถึงช่วงที่ต้องการจบการถ่ายทอดแล้ว จะต้องทำการบอกหรือแสดงให้ผู้ชมทราบว่าการถ่ายทอดสดกำลังจะจบแล้ว ด้วยการพูดขอบคุณทุกคนที่ติดตาม หรือแจ้งกำหนดการ Live ครั้งใหม่ เพราะว่าหากคุณถ่ายทอดสดอยู่แล้วก็ปิดหายไปดื้อๆ จะทำให้ผู้ที่รับชมอยู่สับสนได้ว่าการถ่ายทอดสดนั้นจบแล้วหรือยัง และการจบแบบไม่มีการอำลา ก็เป็นการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้ที่รับชมด้วย

            ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ทุกคน ทำ Facebook Live ให้ออกมาน่าสนใจและได้รับความประทับใจจากผู้ชม เชื่อว่าตอนนี้หลายคนที่ตอนแรกบอกตัวเองว่า ไม่รู้จะ LIVE อะไร จะเริ่มเห็นแนวทาง และลู่ทางในการทำ LIVE บน Facebook โดยใช้สมาร์ทโฟนกันแล้ว จากนี้ขอให้ทุกคนสนุกกับการเผยแพร่เรื่องที่น่าสนใจ แบ่งปั่นสิ่งดีๆ ในโลก Social ผ่านการ Live สดๆ ที่จะช่วยเปิดโลกใหม่ให้กับทั้งผู้ที่ติดตามชม และคนที่ทำ Live ไปพร้อมๆ กัน

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save